วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

โครงการปลูกหญ้าแฝก





โครงการปลูกหญ้าแฝกเฉลิมพระเกียรติ


เนื่องในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงครองราชย์ 60 ปีในปีพุทธศักราช 2549 และจะทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในปีพุทธศักราช 2550 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้จัดทำโครงการปลูกหญ้าแฝกเฉลิมพระเกียรติ ระหว่าง ปี 2548-2550 เพื่อการรณรงค์ส่งเสริมและขยายผลให้ประชาชนปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ และนำหญ้าแฝกไปใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม กว้างขวางและต่อเนื่อง โดยการรวมใจของประชาชนคนไทยทั้งประเทศเข้าร่วมโครงการปลูกหญ้าแฝกเฉลิมพระเกียรติ ภายใต้การสนับสนุนของ 11 หน่วยงาน ที่ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2548 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์) เป็นประธานในพิธีกรอบแห่งความร่วมมือในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ คือ ทั้ง 11 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงกลาโหม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ได้ตกลงให้มีความร่วมมือกันปลูกหญ้าแฝกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลสมัยฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี ในปีพุทธศักราช 2549 เฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในปีพุทธศักราช 2550 มีระยะเวลาดำเนินงานโครงการระหว่างปี 2548-2550 โดยเริ่มดำเนินการดีเดย์ตั้งแต่วันพืชมงคล คือวันที่ 11 พฤษภาคม 2548 ถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2550 โดยมีเป้าหมายที่จะปลูกหญ้าแฝก จำนวนไม่ต่ำกว่า 300 ล้านกล้า และจนเกิดผลสำเร็จในการใช้หญ้าแฝกปรับปรุงและรักษาหน้าดินจำนวนไม่ต่ำกว่า 800,000 จุด ทั่วประเทศ โดยกรมพัฒนาที่ดินสนับสนุนกล้าพันธุ์หญ้าแฝก และถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกหญ้าแฝก ในพื้นที่ลาดชันรอบแหล่งน้ำ บ่อน้ำ สองข้างทางลำเลียง และถนน รวมทั้งพื้นที่เกษตรกรรม โดยมีการบำรุงดูแลรักษาหญ้าแฝกที่ปลูกอย่างต่อเนื่อง มีการติดตามและปลูกซ่อมแซมให้ครบถ้วน ซึ่งบันทึกข้อตกลงได้มีกำหนดระยะเวลาตั้งแต่วันที่ลงนามในบันทึกข้อตกลง คือ วันที่ 9 พฤษภาคม 2548 จนถึง วันที่ 5 ธันวาคม 2550

ลักษณะของหญ้าแฝก

หญ้าแฝก เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวตระกูลหญ้าชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับข้าวโพด ข้าวฟ่าง อ้อย ซึ่งพบกระจายอยู่ทั่วไปหลายพื้นที่ตามธรรมชาติ จากการสำรวจพบว่า มีกระจายอยู่ทั่วโลกประมาณ 12 ชนิด และสำรวจพบในประเทศไทย 2 ชนิด ได้แก่
1.กลุ่มพันธุ์หญ้าแฝกลุ่ม ได้แก่ พันธุ์สุราษฎร์ธานี กำแพงเพชร 2 ศรีลังกา สงขลา 3 และพระราชทาน ฯลฯ
2. กลุ่มพันธุ์หญ้าแฝกดอน ได้แก่ พันธุ์ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ร้อยเอ็ด กำแพงเพชร 1 นครสวรรค์ และเลย เป็นต้น หญ้าแฝกเป็นหญ้าที่ขึ้นเป็นกอ หน่อเบียดกันแน่น ใบของหญ้าแฝกมีลักษณะแคบยาว ขอบขนานปลายสอบแหลม ด้านท้องใบจะมีสีจางกว่าด้านหลังใบ มีรากเป็นระบบรากฝอยที่สานกันแน่นยาว หยั่งลึกในดิน มีช่อดอกตั้ง ประกอบด้วยดอกขนาดเล็กดอกจำนวนครึ่งหนึ่งเป็นหมัน

ลักษณะพิเศษของหญ้าแฝก

การที่หญ้าแฝกถูกนำมาใช้ปลูกในการอนุรักษ์ดินและน้ำ เนื่องมาจากมีลักษณะเด่นหลายประการ ดังนี้ 1. มีการแตกหน่อรวมเป็นกอ เบียดกันแน่น ไม่แผ่ขยายด้านข้าง 2. มีการแตกหน่อและใบใหม่ ไม่ต้องดูแลมาก 3. หญ้าแฝกมีข้อที่ลำต้นถี่ ขยายพันธุ์โดยใช้หน่อได้ตลอดปี 4. ส่วนใหญ่ไม่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ทำให้ควบคุมการแพร่ขยายได้ 5. มีใบยาว ตัดและแตกใหม่ง่าย แข็งแรงและทนต่อการย่อยสลาย 6. ระบบรากยาว สานกันแน่น และช่วยอุ้มน้ำ 7. บริเวณรากเป็นที่อาศัยของจุลินทรีย์ 8. ปรับตัวกับสภาพต่าง ๆ ได้ดี ทนทานต่อโรคพืชทั่วไป 9. ส่วนที่เจริญต่ำกว่าผิวดิน ช่วยให้อยู่รอดได้ดีในสภาพต่าง ๆ

การขยายพันธุ์หญ้าแฝก

การขยายแม่พันธุ์ คือการนำแม่พันธุ์หญ้าแฝกที่มีลักษณะดีมาทำการขยายเพิ่มปริมาณทั้งการปลูกลงดิน ปลูกลงถุงพลาสติกขนาดใหญ่ หรือการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ส่วนการขยายพันธุ์กล้าหญ้าแฝก คือการนำหน่อที่ได้จากการขยายแม่พันธุ์มาเพาะชำเพื่อนำไปปลูกในพื้นที่ ได้แก่ กล้าในถุงพลาสติกขนาดเล็ก และกล้าหญ้าแฝกแบบรากเปลือย ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. การขยายแม่พันธุ์หญ้าแฝก
1.1 การขยายพันธุ์ในแปลงขนาดใหญ่ การขยายพันธุ์หญ้าแฝกในแปลงขนาดใหญ่เหมาะสมกับพื้นที่ที่มีการชลประทานและระบายน้ำดี สามารถปลูกเป็นแปลงขนาดใหญ่ โดยไม่ต้องยกร่องก็ได้ การเตรียมต้นพันธุ์โดยแยกหน่อจากกอนำมาตัดใบให้เหลือความยาว 20 เซนติเมตร และตัดรากให้สั้นแช่ในระดับน้ำสูง 5 เซนติเมตร เป็นระยะเวลา 5-7 วัน รากจะแตกออกมาใหม่นำไปปลูกโดยใช้ระยะปลูกห่างต้น 5 เซนติเมตร และระหว่างแถว 50 เซนติเมตร หลังจากปลูกต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอเมื่ออายุได้ 1 เดือน ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ต้นละ 1 ช้อนชา เมื่อถึงอายุ 4-6 เดือน ให้ขุดนำไปเพาะชำในถุงพลาสติก หรือเตรียมเป็นกล้ารากเปลือยสำหรับใช้ประโยชน์ได้ต่อไป

1.2 การขยายพันธุ์ในถุงพลาสติกขนาดใหญ่ การขยายพันธุ์โดยการปลูกในถุงพลาสติกขนาดใหญ่ โดยวางเป็นแถวคู่ติดกันระยะห่างระหว่างแถวคู่ 1 เมตร ยาวตามพื้นที่ใช้วัสดุปลูกที่มีการระบายน้ำดี เช่น ดินร่วนทรายและขี้เถ้าแกลบ หรือขุยมะพร้าวในสัดส่วน 1:2:1 การติดตั้งระบบน้ำพ่นฝอย หรือมีตาข่ายพรางแสง นำหน่อมาปักชำดูแลจนกระทั่งอายุ 4 เดือน จึงนำไปแยกหน่อเพาะชำต่อไป









2. การขยายกล้าหญ้าแฝกสำหรับใช้ปลูก
2.1 การเตรียมกล้าหญ้าแฝกในถุง โดยตัดรากให้สั้นและแยกหน่อจากกอตัดใบให้ยาว 10 เซนติเมตร นำมาล้างน้ำ มัดรวมกันวางลงบนขุยมะพร้าวที่ชื้น หรือแช่ในระดับน้ำสูง 5 เซนติเมตร ในที่ร่มเงา 4 วัน แล้วจึงคัดหน่อที่ออกรากมาปักชำในถุงพลาสติกขนาดเล็ก (2X6 นิ้ว) และใส่วัสดุเพาะชำที่ระบายน้ำดีมีธาตุอาหารสมบูรณ์ ดูแลรดน้ำในสภาพเรือนเพาะชำ เมื่ออายุ 45-60 วัน ให้นำไปปลูกในพื้นที่ขณะที่ดินมีความชื้น

2.2 การเตรียมกล้าหญ้าแฝกแบบรากเปลือย โดยการแยกหน่อจากกอ ตัดใบให้ยาว 20 เซนติเมตร ตัดรากให้สั้น วางบนขุยมะพร้าวที่ชื้น หรือแช่ในน้ำให้ท่วมรากจนกระทั้งรากงอกขึ้นมายาว 1-2 เซนติเมตร นานประมาณ 5-7 วัน จึงนำไปปลูกในช่วงต้นฤดูฝน และหลังจากปลูกดินควรมีความชื้นติดต่อกันอย่างน้อย 15 วัน

การเตรียมกล้าและดินเพื่อปลูกหญ้าแฝก

1. การกำจัดวัชพืชและเตรียมพื้นที่ 2. การปลูกหญ้าแฝกในช่วงต้นฤดูฝน พื้นที่ปลูกต้องมีความชุ่มชื้น 3. การเตรียมแนวร่องปลูก โดยการวางแนวร่องปลูกขวางความลาดชัน ตามแนวระดับขนานไปตามสภาพพื้นที่ 4. การใส่ปุ๋ยหมักรองก้นหลุมในแนวร่องปลูก เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์แก่ดิน 5. การปลูกกล้าหญ้าแฝกในแปลงปลูก โดยการใช้กล้าเพาะชำถุงขนาดเล็ก ใช้ระยะปลูก 10 เซนติเมตร หรือกล้ารากเปลือยใช้ระยะปลูก 5 เซนติเมตร 6. ความห่างของแถวหญ้าแฝกแต่ละแถว ขึ้นกับความลาดเทของพื้นที่ และชนิดของพืชที่ปลูก โดยขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ แต่โดยทั่วไปจะใช้ระยะห่างทางแนวดิ่ง1.5-3 เมตร 7. กลบดินในร่องปลูกให้ต่ำกว่าระดับผิวดินปกติ เพื่อให้น้ำขัง และซึมลงดินได้ ช่วยให้ดินชุ่มชื้นขึ้น 8. ควรปลูกซ่อมแซมให้ได้แนวรั้วหญ้าแฝกที่เป็นแนวยาวต่อเนื่อง







การดูแลรักษาหญ้าแฝก


1. การคัดเลือกกล้าที่มีคุณภาพ กล้าหญ้าแฝกที่มีคุณภาพโดยทั่วไปเป็นกล้าที่มีอายุ 45 ถึง 60 วัน เมื่อนำกล้าที่แข็งแรงมาปลูกก็จะได้แนวรั้วหญ้าแฝกที่มีการเจริญเติบโตแข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ 2. การเลือกช่วงเวลาปลูก การปลูกหญ้าแฝกในช่วงต้นฤดูฝนจะเหมาะสมที่สุด สภาพของดินที่ปลูกในช่วงต้นฤดูฝนจะมีความชุ่มชื้นสูงติดต่อกันมากกว่า 15 วันขึ้นไป 3. การตัดใบ ในช่วงต้นฤดูฝนให้ตัดใบหญ้าแฝกให้สั้นสูงจากพื้นผิว 5 เซนติเมตร เพื่อให้เกิดการแตกหน่อใหม่ และกำจัดหน่อแก่ที่แห้งตาย ในช่วงกลางฤดูฝนให้เกี่ยวใบสูงไม่ต่ำกว่า 45 เซนติเมตร เพื่อให้มีแนวกอที่หนาแน่นในการรับแรงประทะของน้ำไหลบ่า และในช่วงปลายฤดูฝน เกี่ยวใบให้สั้น 5 เซนติเมตร อีกครั้งเพื่อให้หญ้าแฝกแตกใบเขียวในฤดูแล้ง 4. การดูแลรักษาตามความเหมาะสม ในต้นฤดูฝนให้ใส่ปุ๋ยหมักตามแถวหญ้าแฝกก็จะเป็นการช่วยให้หญ้าแฝกมีการเจริญเติบโตดีขึ้น และกำจัดวัชพืชข้างแนวจะเป็นการช่วยให้สังเกตแนวหญ้าแฝกได้ชัดเจน ช่วยให้หญ้าแฝกเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่และเพื่อป้องกันการไถแนวทิ้งเนื่องจากสังเกตไม่เห็น 5. การปลูกซ่อมและแยกหน่อแก่ออก การปลูกซ่อมแซมในช่วงฤดูฝนจะทำให้ได้แนวรั้วหญ้าแฝกที่แข็งแรง และควรตัดแยกหน่อแก่ที่ออกดอกหรือแห้งออกไปเพื่อจะให้หน่อใหม่ได้แทรกขึ้นมาได้อย่างเต็มที่

การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่เกษตรกรรม

สำหรับการปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่เกษตรกรรมมีจุดประสงค์ที่สำคัญเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรดินและการอนุรักษ์ดินและน้ำ ซึ่งประกอบด้วย
1. การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ลาดชัน

ควรปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวตามแนวระดับขวางความลาดเทในต้นฤดูฝน โดยการทำแนวร่องปลูกตามแนวระดับ ใช้ระยะระหว่างต้น 5 เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือยและระยะ 10 เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง ระยะห่างแถวตามแนวดิ่งไม่เกิน 2 เมตร หญ้าแฝกจะเจริญเติบโตแตกกอชิดกันภายใน 4-6 เดือน

2. การปลูกเพื่อควบคุมร่องน้ำและกระจายน้ำ

นำกล้าหญ้าแฝกในถุงพลาสติกที่มีการแตกกอและแข็งแรงดีแล้วไปปลูกในร่องน้ำ โดยขุดหลุมปลูกขวางร่องน้ำ เป็นแนวตรง หรือแนวหัวลูกศรชี้ย้อนไปทิศทางน้ำไหลอาจใช้กระสอบทรายหรือก้อนหิน ช่วยทำคันเสริมฐานให้มั่นคงตามแนวปลูกหญ้าแฝก ระยะห่างระหว่างต้น 5 เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือย และ 10 เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง และระหว่างแนวปลูกหญ้าแฝกไม่เกิน 2 เมตร ตามแนวตั้งหลังจากเกิดคันดินกั้นน้ำควรปลูกหญ้าแฝกต่อจากแนวคันดินกั้นน้ำออกไปทั้งสองข้าง เพื่อเป็นการกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูก


3. การปลูกเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในสวนผลไม้

ควรปลูกหญ้าแฝกในสวนผลไม้ระยะที่ไม้ผลยังไม่โต หรือปลูกก่อนที่จะลงไม้ผล โดยปลูกแถวหญ้าแฝกขนานไปกับแถวของไม้ผลที่ระยะกึ่งกลางของแถวไม้ผล หรือปลูกเป็นรูปครึ่งวงกลมให้ห่างจากโคนต้นไม้ผล 2.5 เมตร เพื่อไม้ผลเจริญเติบโตขึ้นมาคลุมพื้นที่ หญ้าแฝกจะตายไปกลายเป็นอินทรียวัตถุในดินต่อไป

4. การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ดอนที่ปลูกพืชไร่

การปลูกหญ้าแฝกตามแนวระดับในพื้นที่ดอนที่ปลูกพืชไร่ โดยการขุดร่องปลูกตามแนวระดับ ระยะห่างระหว่างต้น 5 เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือย และ10 เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง ควรใช้ปุ๋ยหมักรองพื้นก่อนปลูกหญ้าแฝก หรือปลูกหญ้าแฝกเป็นแนวระหว่างแถวปลูกพืชไร่ และควรปลูกในสภาพดินที่มีความชุ่มชื้นในช่วงต้นฤดูฝน

5. การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ราบหรือพื้นที่ลุ่ม

ในสภาพพื้นที่ราบหรือพื้นที่ลุ่มที่มีการปรับสภาพเป็นแปลงยกร่องเพื่อปลูกพืชนั้น สามารถปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวรอบขอบเขตพื้นที่ หรือปลูกที่ขอบแปลงยกร่องหญ้าแฝกจะช่วยยึดดินไม่ให้พังทลาย และรักษาความชื้นในดินเอาไว้

6. การปลูกรอบขอบสระเพื่อกรองตะกอนดิน

ควรปลูกตามแนวที่ระดับน้ำสูงสุดท่วมถึง 1 แนว และปลูกเพิ่มขึ้นอีก 1-2 แนวเหนือแนวแรก ซึ่งขึ้นอยู่กับความลึกของขอบสระ ระยะห่างระหว่างต้น 5 เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือย และ 10 เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง โดยขุดหลุมปลูกต่อเนื่องกันไป ในระยะแรกควรดูแลปลูกซ่อมแซมให้แถวหญ้าแฝกเจริญเติบโตหนาแน่นเมื่อน้ำไหลบ่ามาลงสระตะกอนดินที่ถูกพัดพามากับน้ำ จะติดค้างอยู่กับแถวหญ้าแฝก ส่วนน้ำจะค่อย ๆ ไหลผ่านลงสู่สระและระบบรากของหญ้าแฝกยังช่วยยึดติดดินรอบ ๆ ขอบสระไม่ให้เกิดการพังทลาย

รูปแบบการปลูกหญ้าแฝกตามหลักวิชาการ

เพื่อให้การดำเนินการปลูกหญ้าแฝกตามโครงการนี้มีรูปแบบที่ชัดเจน จึงได้มีการกำหนดรูปแบบการปลูกที่สามารถนำไปปฏิบัติในพื้นที่ได้ ซึ่งประกอบด้วย

1. การปลูกในระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ

การปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวเดี่ยวขวางความลาดชันของพื้นที่ถ้าใช้กล้าแบบรากเปลือยจะปลูกระยะระหว่างต้น 5 เซนติเมตร ถ้าเป็นกล้าถุงพลาสติก ใช้ระยะปลูกระหว่างต้น10 เซนติเมตร โดยปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวตามแนวระดับ ให้มีระยะห่างระหว่างแถวตามแนวดิ่งไม่เกิน 2 เมตร ความยาวของแถวหญ้าแฝกขึ้นกับสภาพพื้นที่ และพื้นที่ว่างระหว่างแถวหญ้าแฝกจะเป็นพื้นที่ปลูกพืชหลัก

2. สระน้ำปลูก 2 แถว

- แถวที่ 1 ปลูกห่างขอบบ่อ 50 เซนติเมตร จนรอบบ่อ- แถวที่ 2 ปลูกที่ระดับทางน้ำเข้า จนรอบบ่อ

3.อ่างเก็บน้ำปลูก 3 แถว

- แถวที่ 1 ปลูกที่ระดับทางน้ำล้นจนรอบอ่าง ยกเว้นบริเวณคันหรือสันอ่างเก็บน้ำ- แถวที่ 2 ปลูกที่ระดับสูงกว่า แถวที่ 1 ตามแนวดิ่ง 20 เซนติเมตร จนรอบอ่าง ยกเว้นบริเวณคันหรือสันอ่างเก็บน้ำ- แถวที่ 3 ปลูกที่ระดับต่ำกว่า แถวที่ 1 ตามแนวดิ่ง 20 เซนติเมตร จนรอบอ่าง ยกเว้นบริเวณคันหรือสันอ่างเก็บน้ำ

4. ปลูกริมคลองส่งน้ำ 1 แถว ห่างขอบคลองส่ง 30 เซนติเมตร

5 ปลูกบนร่องสวน 1 แถว ห่างขอบแปลง 30 เซนติเมตร

6. ปลูกอยู่บนไหล่ถนน 1 แถว สำหรับถนนหรือทางลำเลียง

7. ปลูกครึ่งวงกลมล้อมต้นไม้

- ต้นไม้ขนาดเล็ก รัศมีขนาด 1 เมตร เป็นระยะทาง 3 เมตร- ต้นไม้ขนาดกลาง รัศมีขนาด 2 เมตร เป็นระยะทาง 6 เมตร- ต้นไม้ขนาดใหญ่ รัศมีขนาด 3 เมตร เป็นระยะทาง 9 เมตร

8. ปลูกวงกลมล้อมต้นไม้

- ต้นไม้ขนาดเล็ก รัศมีขนาด 1 เมตร เป็นระยะทาง 6 เมตร- ต้นไม้ขนาดกลาง รัศมีขนาด 2 เมตร เป็นระยะทาง 12 เมตร- ต้นไม้ขนาดใหญ่ รัศมีขนาด 3 เมตร เป็นระยะทาง 18 เมตร

การปลูกหญ้าแฝกทุกครั้งจะต้องปลูกให้ต้นชิดติดกันเป็นแถว ไม่ว่าจะเป็นกรณีแถวตรงหรือแถวโค้งรอบต้นไม้ก็ตาม ถ้าใช้กล้าถุงมีระยะปลูกระหว่างต้น 10 เซนติเมตร และกล้ารากเปลือยระยะปลูก 5 เซนติเมตร

โครงการพระราชดำริ การพัฒนาพลังงานทดแทน


การพัฒนาพลังงานทดแทน
"ประมาณปี พ.ศ.๒๕๒๔ เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในอิหร่าน มีการสู้รบกัน น้ำมันขาดแคลนและราคาพุ่งสูงมาก ประเทศไทยตอนนั้นยังพึ่งพาน้ำมันยิ่งกว่าตอนนี้อีก ก๊าซธรรมชาติก็ยังไม่ได้ขุดขึ้นมาใช้ ช่วงนั้นลำบากมากเรื่องราคาน้ำมัน...
จำได้ว่าเริ่มมีข่าวโครงการพระราชดำริแล้ว ในขณะที่รัฐบาลยังไม่คิดกันเลย เพราะคิดแต่ว่าราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงเพราะการเมือง ทุกคนคิดว่าเดี๋ยวเลิกรบราคาก็ถูกลงเอง ปี ๒๕๒๘-๒๕๒๙ ราคาถูกลง ทุกคนก็สบายใจว่าคงไม่มีปัญหาอะไร ตอนนั้นก็โครงการพระราชดำริเรื่องเอทานอลและ ไบโอดีเซลก็มีการวิจัยทดลองเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลเพิ่งจะมามองเรื่องนี้ช่วงปี ๒๕๔๐ ถ้าจำไม่ผิดเป็นเรื่องของพืชผลการเกษตรราคาตกต่ำ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์มขายไม่ออก ถึงได้เริ่มหันมามองว่าเอามาเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงได้ไหน...
"ประมาณปีพ.ศ. ๒๕๒๔ เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในอิหร่าน มีการสู้รบกัน น้ำมันขาดแคลนและราคาพุ่งสูงมาก ประเทศไทยตอนนั้นยังพึ่งพาน้ำมันยิ่งกว่าตอนนี้อีก ก๊าซธรรมชาติก็ยังไม่ได้ขุดขึ้นมาใช้ ช่วงนั้นเราลำบากมากเนื่องน้ำมัน"
เรื่องเอทานอล มีนักวิชาการบางท่านเริ่มทำ แต่สิ่งที่พวกเราเห็นกันต่อเนื่องมาตลอดคือ โครงการพระราชดำริมีการพัฒนาไม่เคยหยุดหย่อน พัฒนาต่อเนื่อง ต้องถือว่าผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการพระราชดำริคือองค์ความรู้แห่งเดียวของเมืองไทยที่มีอย่างต่อเนื่อง พัฒนาจากสิ่งที่เรามีอยู่ จากวัสดุในเมืองไทย และนำมาใช้กับรถยนต์ในเมืองไทย ไม่ใช่ จากตำราต่างประเทศ...
นอกจากนั้นเมื่อรัฐบาลเริ่มพัฒนาโครงการนี้อย่างจริงจัง คนไทยก็เชื่อว่ามันทำได้ เพราะโครงการส่วนพระองค์ทดลองใช้มานานแล้ว ผมว่ารัฐบาลได้ประโยชน์เต็มๆ เพราะเมื่อถึงเวลาที่ตนเองมาส่งเสริม ไม่ต้องพูดมาก กระแสยอมรับมีอยู่แล้ว ประเทศเพื่อนบ้านเรายังติดขัดกันอยู่เลย เพราะประชาชนไม่เชื่อว่าใช้แล้วรถไม่พัง การที่เรามีองค์ความรู้ต่อเนื่องกันมามีส่วนส่งเสริมกับภาวการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน...
ถ้าเราไม่ได้มีพื้นฐานทีได้ศึกษากันไว้เลย ต้องช้ากว่านี้แน่นอน ถ้าเราไม่รู้จักแก๊สโซฮอล์หรือไบโอดีเซลเลย ไม่เคยมีในประเทศไทยมาก่อน มาเริ่มต้นกันใหม่ มันก็ต้องไปเริ่มจากพืช ว่าจะเอาพืชอะไรมาผลิตแอลกอฮอล์ แล้วคุณสมบัติควรจะต้องเป็นอย่างไร เติมเครื่องยนต์แล้วมีผลเสียอะไรหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ต้องมีประสบการณ์จริงเท่านั้น จึงจะนำไปยืนยันกับผู้คนได้ อันนี้ชัดเจนว่าองค์ความรู้ที่รัฐบาลนำมาใช้เป็นพื้นฐานคือองค์ความรู้จากประสบการณ์ที่เป็นผลมาจากโครงการพระราชดำริทั้งนั้น แถมเมื่อเริ่มต้นออกสู่ตลาด อาจพูดได้ว่าเหมือนน้ำมันพระราชทาน เพราะน้ำมันที่ผสม ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ๕ เปอร์เซ็นต์ มีแหล่งเดียวที่ผลิตในประเทศไทย คือขอรับไปจากโครงการพระราชดำรินี่ละครับ"
ดร.ส่งเกียรติ ทานสัมฤทธิ์ เสริมว่า
"เราจะพบว่าพระองค์ท่านทรงทำการวิจัยค้นคว้ามาโดยตลอด บางช่วงราคาน้ำมันลงไป พระองค์ท่านก็ไม่ได้หยุดยั้งยังทรงให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างโรงงานขึ้นในสวนจิตรลดา เชื่อหรือไม่ เมื่อประเทศเผชิญวิกฤติราคาน้ำมันครั้งที่ ๓ ปั๊มในสวนจิตรลดาเป็นปั๊มแรกที่นำเอทานอลมาผสมและจำหน่ายบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน หลังจากนั้นจึงเป็นภาคเอกชนค่อยๆเกิดตามมา ผมจึงเรียนว่าจะไม่ประทับใจต่อพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านได้อย่างไร"
" องค์ความรู้ที่รัฐบาลนำมาใช้เป็นพื้นฐานคือองค์ความรู้จากประสบการณ์ที่เป็นผลมาจากโครงการพระราชดำริทั้งนั้น "

การดำเนินการพัฒนาพลังงานเพื่อสนองแนวพระราชดำริ
เอทานอล
นโยบายเกี่ยวกับแก๊สโซฮอล์ของกระทรวงพลังงานเริ่มในปี พ.ศ.๒๕๔๖ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ปี พ.ศ.๒๕๔๗ - ๒๕๔๗ ทดลองใช้เอทานอลสาร MTBE ในน้ำมันเบนซิน ออกเทน ๙๕ โดยกำหนดให้ปี พ.ศ. ๒๕๕๔ จะใช้แอลกอฮอล์ ๓ ล้านลิตรต่อวัน สำหรับการผสมในอัตราส่วนร้อยละ ๑๐ ในแก๊สโซฮอล์ ๙๕ และ ๙๑
สำหรับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทน้ำมันที่ดำเนินการสนองแนวพระราชดำริเรื่องแก๊สโซฮอลล์ ดร.ส่งเกียรติอธิบายว่า "เราประสานงานกับภาครัฐบาลมาตลอด โดยเฉพาะเรื่องการจัดหาเอทานอล ปตท. เริ่มจำหน่ายแก๊สโซฮอล์แห่งแรกที่สถานีบริการของ ปตท. สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๔ ปัจจุบันใน พ.ศ. ๒๕๔๙ ปตท. มีสถานีบริการน้ำมันแก๊สโซฮอล์มากที่สุด จำนวน ๑,๑๙๗ สถานีปริมาณจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ทั้ง ๙๑ และ ๙๕ รวมกันประมาณ ๓.๗ ล้านลิตรต่อวัน"
ไบโอดีเซล
คณะรัฐมนตรีกำหนดให้ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ - ๒๕๔๘ มีการทดลองตลาดไบโอดีเซล B2 และ B5 ปัจจุบันมีความต้องการใช้ไบโอดีเซล B5 รวมวันละ ๕๐๐,๐๐๐ ลิตร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จัดหาเมทิล เอสเตอร์ B100 จากผู้ผลิตรายย่อยในปริมาณวันละ ๑๖,๖๐๐ ลิตร นำมาผสมได้ไบโอดีเซล B5 วันละ ๓๐๐,๐๐๐ ลิตร
และในปี พ.ศ.๒๕๕๐ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะสามารถจัดหาเมทิล เอสเตอร์ B100 จากโรงงานบริษัท ไทยโอลีโอเคมี จำกัด (TOL) ที่มีกำลังผลิตเมทิล เอสเตอร์ B100 ๒๐๐,๐๐๐ ตันต่อปี หรือประมาณวันละ ๖๐๐,๐๐๐ ลิตร ซึ่งสามารถนำไปผลิตไบโอดีเซล B5 ได้วันละ ๑๒ ล้านลิตรและเมื่อรวมกับกำลังผลิตของบริษัท ทักษิณปาล์ม จำกัด และบริษัท ไบโอเอ็นเนอยี่พลัส จำกัด จะทำให้สามารถผลิตไบโอดีเซล B5 ได้วันละ ๒๒ ล้านลิตร ปัจจุบันบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีการจำหน่ายดีเซลทั้งหมดประมาณวันละ ๑๖ ล้านลิตร
"และในปีพ.ศ. ๒๕๕๐ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะสามารถจัดหาเมทิล เอสเตอร์ B100 จากโรงงานบริษัท ไทยโอลีโอเคมี จำกัด (TOL) ที่มีกำลังผลิตเมทิลเอสเตอร์ B100 ๒๐๐,๐๐๐ ตันต่อปี หรือประมาณวันละ ๖๐๐,๐๐๐ ลิตร ซึ่งสามารถนำไปผลิตไบโอดีเซล B5 ได้วันละ ๑๒ ล้านลิตร"
ส่วนไบโอดีเซลจะมีปัญหาเรื่องปริมาณวัตถุดิบที่จะนำมาผลิตไบโอดีเซลเหมือนกับเอทานอลหรือไม่ คุณเมตตาระบุว่า
"เรามีบทเรียนจากเอทานอล คงไม่เกิดกรณีอย่างนั้นอีก มันเป็นเรื่องของการจัดการสองด้าน ขณะที่เราส่งเสริมการปลูกพืช ให้มีโรงงานเกิดขึ้นมา เราก็ต้องไปจัดการด้านการจำหน่าย เตรียมหาผู้จำหน่ายรองรับไว้ด้วย ภาครัฐต้องบริหารให้เท่ากัน...
ช่วงแรกๆ การบริหารจัดหาให้มีโรงงานผลิตออกมา ในขณะที่ภาคจำหน่ายยังรองรับไม่หมด ก็มีเสียงบ่นโวยวายมาจากโรงงานว่ารัฐบาลไม่จริงใจ พอเราส่งเสริมด้านการจำหน่าย กลายเป็นว่าความต้องการมากกว่ากำลังผลิต ทำให้ราคาสูงขึ้น ก็มีเสียงบ่นว่าโรงงานถือโอกาส นั่นเป็นบทเรียนที่ได้จากแก๊สโซฮอล์ ไบโอดีเซลก็คงมีปัญหาบ้าง แต่คงน้อยกว่า เพราะเรารู้แล้วว่าต้องทำอย่างไร"
สำหรับกรณีปัญหาเรื่องการนำพืชอาหารมาทำเป็นเชื่อเพลิงส่งผลกระทบต่อปริมาณอาหารหรือไม่ คุณเมตตาอธิบายว่า
"ผมเชื่อว่าถ้าพืชถูกนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงจริงๆ มันจะเกิดจากแยกตัวของการปลูกจะไม่เกี่ยวกัน สังเกตจากตอนนี้ อ้อย น้ำตาลในสหรัฐฯ ในบราซิล ชนิดนำมาบริโภคกับนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงก็ไม่เหมือนกัน ผมเชื่อว่าอย่างปาล์มก็คงไม่เหมือนกัน น้ำมันปาล์มที่เราใช้บริโภคคุณภาพดีเกินไป ควรหาปาล์มต้นทุนต่ำกว่านี้ ทำให้ถูกที่สุด...
ทางเลือกในการบริโภคอาหารมีหลากหลาย แต่ทางเลือกของเชื้อเพลิงมันจำกัดกว่า ผมว่าต้องเผื่อแผ่กันทั้งสองฝ่าย ฝ่ายที่มองว่ามันเป็นอาหารก็ต้องนึกว่าจำเป็นต้องเอาไปแทนที่เชื้อเพลิงบางส่วนก็ต้องเอาไป ส่วนผู้บริโภคอาหารก็หาอย่างอื่นทดแทนไป อาหารนี่ทางเลือกสูงมาก ไม่อย่างนั้นประเทศผู้ผลิตอาหารไม่เสียเปรียบอย่างทุกวันนี้ ไม่เคยมีอำนาจต่อรองเหนือใครเลย เพราะว่าผู้ซื้อมีทางเลือกมหาศาล อาจมีการกระทบกระทั่งกันบ้างในช่วงแรก แต่ผมเชื่อว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งมันจะแยกตัวกัน"
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีส่วนร่วมในการพัฒนามาตรฐานและทดสอบคุณภาพของไบโอดีเซลกับภาครัฐมาโดยตลอด และกำลังดำเนินการก่อสร้างโรงงานต้นแบบของตนเองที่ศูนย์วิจัยและพัฒนา เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไบโอดีเซลให้มีประสิทธิภาพทัดเทียมกับต่างประเทศ
ส่วนการพัฒนาพลังงานทดแทนในอนาคตมีทิศทางเป็นอย่างไรนั้นในฐานะบริษัทผู้ผลิตน้ำมัน ดร.ส่งเกียรติสรุปว่า
"ผมเรียกว่าอีก ๑๐๐ ปีข้างหน้า น้ำมันก็ยังมีอยู่ แต่จะเป็นน้ำมันที่ไม่ใช่น้ำมันที่ผลิตอยู่ในปัจจุบัน มันจะเป็นน้ำมันจากก๊าซธรรมชาติก็ได้ มีโรงงานที่ผลิตแล้วที่กาตาร์ นำก๊าซธรรมชาติมาเปลี่ยนเป็นน้ำมันดีเซล ที่สะอาดมาก สีใสเหมือนน้ำเลย ถ่านหินก็สามารถนำมาทำเป็นน้ำมันดีเซลได้เช่นกัน แล้วก็ได้ก๊าซธรรมชาติมาด้วย ทาร์แซนด์ (tar sands) ที่แคนาดาซึ่งมีมากมายมหาศาล ก็นำมาทำน้ำมันได้ เซลล์ออยล์ที่จีนแดงไปร่วมลงทุนกับบริษัทในแคนาดาเริ่มผลิตอยู่ ส่วนแหล่งน้ำมันในทะเลต่อไปจะมาจากความลึกระดับน้ำทะเล ๑,๐๐๐ เมตร ถ้าน้ำมันยังราคาสูงต่อไป จะมีแหล่งน้ำมันมาจากที่ลึกมาก เรียกว่าซูเปอร์ดีป คือ ๒,๐๐๐ เมตร หรือถ้าเกิน ๑๐๐ ปีขึ้นไป หาอะไรไม่ได้แล้ว ใต้ทะเลลึกยังมีดีไฮเดรตแก๊ส คือก๊าซมีเทน ซึ่งถูกแรงกดดันของน้ำทะเลและอุณหภูมิของน้ำทะเล ทำให้ก๊าซธรรมชาติเป็นน้ำแข็งอยู่ใต้ทะเลลึก
ถ้านำเอาขึ้นมาเปลี่ยนเป็นน้ำมัน อีก ๑๐๐ ปีข้างหน้า รถยนต์ก็ยังเป็นรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน แต่อยู่ที่ราคาจะเป็นเท่าไหร่ ซึ่งอาจจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมา เช่น รถยนต์ไฮบริด รถยนต์ขนาดเล็ก แต่ว่ายังคงใช้น้ำมัน แต่จะเป็นน้ำมันที่เกิดขึ้นหลากหลายรูปแบบ...
ปตท. มองว่าเราต้องศึกษาเรื่องเทคโนโลยีหาทางเรียนรู้วิธีของเราสถาบันวิจัยและเทคโนโลยีของปตท. กำลังจะติดตั้ง fuel cell ที่ศูนย์วิจัยวังน้อย เพื่อผลิตไฮโดรเจน และนำไฮโดรเจนไปผลิตกระแสไฟฟ้าประมาณปีหน้าจะเริ่มทดลองเดินเครื่อง ส่วนเรื่องน้ำมันเราเชื่อว่ายังอยู่ได้อีก ๑๐๐ ปี แต่จะมาจากหลากหลายรูปแบบ ส่วนราคาคงอยากให้น้ำมันราคาอยู่ในระดับ ๒๐ - ๓๐ เหรียญต่อบาร์เรลอีก"
การพัฒนาพลังงานทดแทนอื่นๆ จึงมีความจำเป็นต่อโลกในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โครงการตามแนวพระราชดำริ อันเกี่ยวเนื่องกับกิจการพลังงาน
๖๐ ปีที่ทรงครองราชย์ คือ ๖๐ ปีแห่งพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรทั่วแผ่นดิน ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงวางพื้นฐาน สร้างแนวคิด และศึกษาวิจัยหาวิธีผลิตพลังงานต่างๆ อย่างต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งช่วยบรรเทาวิกฤติการณ์พลังงานที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอย่างไม่ได้ผลเป็นรูปธรรม
แนวพระราชดำริอันเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาพลังงานนั้นครอบคลุมทุกด้าน อันได้แก่
พลังน้ำ...พลังแห่งน้ำพระราชหฤทัย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระปรีชาสามารถในเรื่องเกี่ยวกับ "น้ำ" ยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือนแนวพระราชดำริของพระองค์ท่านทรงเน้นการสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์และยังสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับชุมชนในละแวกใกล้เคียงในพื้นที่ชนบทห่างไกล เสริมการทำงานของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ของภาครัฐ
พลังงานชีวภาพ...พลังแห่งพระปรีชาญาณ
ในขณะที่คนทั่วไปมองว่าการนำพืชมาทำเป็นเชื้อเพลิงไม่คุ้มค่า แต่ด้วยสายพรนะเนตรอันยาวไกล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีกระแสพระราชดำรัสให้โครงการส่วนพระองค์ศึกษาวิจัยการนำพืชมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงมานานกว่า ๒๐ ปี ทำให้ประเทศไทยมีทางเลือกมากขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์วิกฤตพลังงานในปัจจุบัน
พลังงานทดแทน...พลังแห่งสายพระเนตร
การพัฒนาพลังงานทดแทนอื่นๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เชื้อเพลิงอัดแท่ง ระบบผลิตน้ำเย็นโดยใช้พลังงานความร้อนจากแกลบ ล้วนแต่มีตัวอย่างกระจายอยู่ในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา และศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริในภูมิภาคต่างๆ เพื่อปิดโอกาสให้ประชาชนที่สนใจเข้ามาศึกษาและนำไปปรับใช้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของตนเอง

โครงการศูนย์ปาชีพบางไทร



ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร


เมื่อสองปีที่แล้วผมเขียนเรื่องของศูนย์ศิลปาชีพบางไทรมาครั้งหนึ่งแล้ว คราวนี้ปลายปี ๒๕๔๓ ผมไปเที่ยวอีกแต่ไปทางเรือ ไปแล้วก็ตื่นตาตื่นใจ ชื่นชมในผลงานตามโครงการพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ จึงขอเขียนอีกสักครั้งเพื่อเทิดพระเกียรติ และเชิญชวนพวกเราไปเที่ยวกัน ศูนย์ศิลปาชีพ ฯ วันนี้แตกต่างไปกว่าเมื่อสองปีที่แล้วทุกด้าน ไม่ว่าความงดงาม งานศิลปาชีพทั้งที่ตั้งไว้เป็นนิทรรศการ และนำออกจำหน่าย สวนนก รถไฟเล็ก (ความจริงคือรถไถนา ครอบเอาไว้ด้วยร่างของหัวรถจักร) ที่จะพาขบวนนักท่องเที่ยว เที่ยวชมบริเวณศูนย์ ฯ ซึ่งหากเดินเที่ยวชมเองคงหมดสนุก สู้นั่งรถไฟเล็กขึ้นฟรีเที่ยวไม่ได้ อยากลงดูตรงไหนก็ลงดู อยากลงกินอะไร ซื้ออะไรที่ไหนก็ลงได้เลย แล้วรอขึ้นขบวนต่อไปกลับไปยังจุดหมายเดิม หรือที่หมายใหม่ได้ต่อไป เพราะ "ขึ้นฟรี" กี่เที่ยวก็ฟรีทั้งนั้น ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร อยู่ในโครงการศิลปาชีพพิเศษ ตามโครงการพระราชดำริในสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ยากจน และมีรายได้น้อย เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓ โดยมีพระราชวินิจฉัยว่า บริเวณที่ตั้งต้องไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร และยังไม่ห่างจากพระราชวังบางปะอินอีกด้วย ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร อยู่ในเขตอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดครั้งแรกเพื่อฝึกอบรมช่างฝีมือ และหัตถกรรมมี ๑๖ แผนก เมื่อฝึกอาชีพแล้วเกิดผลผลิตขึ้นก็มีร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ทำสำเร็จแล้ว (ปัจจุบันสร้างใหม่แล้ว) และยังมีกรงนกที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นแหล่งศึกษาพันธุ์นกต่าง ๆ ที่หายากของเมืองไทย ตลอดจนร้านอาหารสำหรับบริการนักท่องเที่ยว ที่กล่าวมาคือจุดประสงค์ดั้งเดิมเมื่อมีพระราชดำริที่จะสร้างขึ้น การเดินทางไปศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ทางรถยนต์สะดวกที่สุด เพราะหากมีรถหรือรวมกันได้จะไปเมื่อไรก็ไปได้ทันที ง่ายกว่าการรวมเพื่อไปทางเรือ แต่ความสนุกสนานจะแตกต่างกับการไปทางเรือ เส้นทางแรก เส้นทางดั้งเดิม คือไปตามถนนพหลโยธิน ไปจนเลยประตูน้ำพระอินทร์ไปอีก ๔ กิโลเมตร ประมาณกิโลเมตร ๕๔ แล้วแยกซ้ายไปหน่อย ก็แยกซ้ายอีกทีไปทางบางปะอิน ๖ กิโลเมตร จะถึงบางปะอิน และจากบางปะอินจะไปอีก ๑๗ กิโลเมตรรวมระยะทางเส้นนี้ประมาณ ๗๐ กิโลเมตร เส้นทางที่สอง ซึ่งสมัยนี้น่าจะไปตามเส้นทางนี้คือไปถึงรังสิตแล้วแยกซ้ายไปทางสามแยกบางพูล แล้วเลี้ยวขวาไปทางปทุมธานี พอเลี้ยวไปหน่อยเดียวก็เลี้ยวขวาอีกที เข้าถนนสายที่ตัดไปผ่านหลังสนามกีฬาธรรมศาสตร์ ไปออกอยุธยา ไปตามเส้นนี้จะพบทางแยกซ้ายเข้าสู่ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ระยะทางใกล้เคียงกันแต่น่าจะเร็วกว่าเส้นทางแรก และหากเชี่ยวชาญเส้นทางยังสามารถแยกเข้าซอยเล็กซอยน้อยตัดไปได้อีกหลายทาง ทางเรือ มีเรือทัศนาจร หลายบริษัทด้วยกัน ผมจำไม่ได้ว่ามีของใครบ้าง แต่ของเรือด่วนเจ้าพระยานั้นมีแน่ ไปเที่ยวได้ถึงบางปะอินเลยทีเดียว มีประจำทุกวัดอาทิตย์ ต้องลองสอบถามดูเพราะผมยังไม่เคยไปกับเขา คราวนี้ผมไปทางเรือ แต่เป็นเรือทัศนาจรของคณะเดียวกันจึงสนุกสนานดี เป็นเรือของชลประทานซึ่งพวกเราในคณะที่ไป รุ่นเดียวกับเลขาตลอดกาลของผม ท่านเป็นชั้นผู้ใหญ่ของกรมชล เรือ รถ นั้นจะต้องลองเครื่อง จะจอดทิ้งไว้เฉย ๆ ไม่ได้ เช่นรถของทหารต้องติดเครื่องยนต์ทุกเช้า เรียกว่าการทำ มอเตอร์ สเตบิล เรือก็เช่นกันต้องมีการวิ่งทางไกลเพื่อลองเครื่อง ยิ่งเรือลำที่ไปวันนี้นั้นเป็นเรือของท่าน พล.อ.เจ้าพระยารามราฆพ ท่านขายให้กรมชลประทานเมื่อ ๗๐ ปีผ่านมาแล้ว แต่สภาพเรือยังเยี่ยมยอด เป็นเรือสองชั้น ชั้นล่างมีห้องเอนกประสงค์ และห้องสุขาชั้นดี พื้นเรือเป็นไม้ขัดมันปราบเลยทีเดียว เมื่อเรือลำนี้ออกทดลองวิ่ง ก็ขอเรือและออกค่าน้ำมัน ค่าเบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่ของเรือให้ แต่เราอาศัยนั่งไปด้วย นำอาหารไปจากกรุงเทพ ฯ เอาไป ๒ มื้อ คือมื้อเช้าและมื้อกลางวัน เรือออกจากท่าเรือของกรมชลประทานที่สามเสน เมื่อเวลาประมาณ ๐๗.๐๐ พอเรือออกก็เริ่มอาหารเช้าที่เตรียมไป มีข้าวต้มเครื่อง กาแฟ ปาท่องโก๋ แค่นี้ก็อิ่มสบายไปแล้ว และทุกคนที่ไปก็ล้วนแต่สูงอายุทั้งสิ้น จะต้องกังวลเรื่องห้องสุขา แต่การไปกับเรือลำนี้ ไม่ต้องห่วงเรื่องห้องสุขาเพราะสะอาด เป็นสากลคนหนุ่ม คนสาว คนเฒ่า ใช้ได้สะดวกหมด จุดแรกที่เรือจอดให้ขึ้นฝั่งคือ ท่าน้ำวัดเฉลิมพระเกียรต ที่นนนทบุรี ซึ่งผมเพิ่งเขียนถึงวัดเฉลิมพระเกียรติ และสวนเฉลิมกาญจนาภิเษก ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้เอง ทบทวนให้อีกทีว่าเริ่มตั้งแต่ชมบริเวณหน้าวัด หรือเดิมคือเป็นป้อม "ทับทิม" สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย แล้วพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงโปรดให้สร้างเป็นวัดแต่ยังรักษาเอกลักษณ์เดิมไว้คือความเป็นป้อม มีกำแพง มีใบเสมา สร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติแก่พระอัยกา และพระอัยกีของพระองค์ ชมหน้าวัดมีวังมัจฉา ชมกำแพงวัด แล้วเข้ากำแพงไปชมพระอุโบสถซึ่งสร้างตามราชนิยมของรัชกาลที่ ๓ คือ ไทยปนจีน ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ไปชมพระวิหารศิลาขาวที่อยู่ติดกัน เดินออกหลังพระวิหาร ไปนมัสการพระบรมธาตุเจดีย์ และชม "มอ" (เอาหินมาสร้างเป็นภูเขา) ที่มีน้ำตกและเป็นมอที่ใหญ่ที่สุด จากนั้นเดินออกหลังวัด อ้อมไปชมอุทยานเฉลิมกาญจนาภิเษก แล้วลงเรือโดยให้เรือรอรับที่ท่าน้ำของอุทยาน ฯ ใช้เวลาประมาณชั่วโมงเศษ เรือออกแล่นต่อไป ชมบ้าน ชมเรือนสองฝั่งลำน้ำ ที่แปลกหูแปลกตาไปกว่าสมัยก่อนโน้นมากมาย เพราะสิ่งก่อสร้างมากขึ้น ตึกรามบ้านช่องมากขึ้น บ้านแพริมน้ำอย่างนี้เริ่มหายาก แต่ก็ยังเป็นความงดงามตามธรรมชาติที่หาชมไม่ได้ในเมืองกรุง ฯ เรือไปถึงท่าน้ำเกาะเกร็ด ประมาณเวลา ๑๐.๓๐ คราวนี้ใช้เวลานานประมาณเกือบสองชั่วโมง เพื่อเที่ยวชมเกาะเกร็ด เมื่อขึ้นจากเรือมาบนเกาะเกร็ดแล้ว จะมีแต่ทางเดินหรือทางพอให้รถจักรยานวิ่งได้เท่านั้น ไม่มีทางให้รถยนต์วิ่งจึงปลอดมลพิษเป็นอย่างยิ่ง หากแยกเดินไปทางซ้ายจะไปยังร้านอาหารครัวชาวเกาะ ร้านขนมหวานแม่พยอม และไปสิ้นสุดที่ท่าน้ำวัดฉิมพลี หากไปจากท่าน้ำแล้วแยกไปทางขวา จะเริ่มจากวัดปรมัยยิกาวาส เลาะเรื่อยไปตามร้านอาหาร ร้านเครื่องปั้นดินเผา และไปจบที่วัดไผ่ล้อม ลงเรือกันที่ท่าน้ำวัดไผ่ล้อมเพื่อเดินทางต่อ ผมขอแนะนำที่เกาะเกร็ดไว้ด้วย เพราะเกาะเกร็ดนั้นประชาชนส่วนใหญ่ล้วนมีเชื้อสายมอญแทบทั้งสิ้น วัดปรมัยยิกาวาส จึงเสมือนวัดที่สำคัญที่สุดของชาวมอญ มีการศึกษาภาษาบาลีเป็นภาษารามัญตั้งแต่ยังชื่อว่าวัด "ปากอ่าว" ก่อนที่จะมาเปลี่ยนเป็นวัดปรมัยยิกาวาส (นามพระราชทาน) ทุกวันี้ยังมีการทำวัตรสวดมนต์ การทำอุโบสถสังฆกรรม การเจริญพระพุทธมนต์ทั่วไป การอุปสมบท ล้วนเป็นภาษารามัญหรือรักษาแบบธรรมเนียมรามัญเอาไว้ ในเกาะเกร็ดมีวัดอยู่ ๖ วัดคือ ๑. วัดปรมัยยิกาวาส ซึ่งเป็นวัดที่สำคัญ มีพิพิธภัณฑ์ที่ควรชมอย่างยิ่งอยู่ด้วย ๒. วัดไผ่ล้อม มีโบสถ์ที่งดงาม ลายหน้าบันจำหลักเป็นลายไม้ดอก หน้าโบสถ์มีเจดีย์ขนาดย่อม ๒ องค์ รูปทรงแปลกมาก ฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมสิบสอง มอญเรียกว่า "เพียะโต้" ๓. วัดเสาธงทอง เป็นวัดโบราณ เดิมชื่อว่า วัดสวนหมาก มีเจดีย์ย่อมุมสิบสองอยู่หลังโบสถ์ มีเจดีย์องค์เล็กเป็นบริวารโดยรอบ มอญเรียกว่า "เพียะอาลาด" ๔. วัดฉิมพลี มีโบสถ์ขนาดเล็กที่งดงาม หน้าบันจำหลักเป็นรูปเทพทรงราชรถ ล้อมรอบด้วยดอกไม้ มีตุ๊กตาหินอ่อน ยุคจีนโบราณขนาดใหญ่ อยู่ข้างกำแพงประตูโบสถ์ ๕. วัดป่าเลย์ไลย์ ปัจจุบันเป็นวัดร้าง และไปอยู่รวมกับวัดฉิมพลี คงเหลือโบสถ์ไว้ให้เห็น แต่สภาพโดยทั่วไปยังดี เพดานโบสถ์เขียนลายทองงดงาม พระประธานเป็นพระปางมารวิชัยสัมฤทธิ์ บานประตูลายทองรดน้ำ ๖. วัดศาลากุน เป็นวัดเก่าเช่นกันเดิมอยู่ริมน้ำ ภายในวัดมีเครื่องแก้ว เครื่องมุก และหีบศพทำด้วยมุก อยากคุยเรื่องอาหารของเกาะเกร็ดไว้สักนิด เพราะเพิ่มมากขึ้นจากการไปครั้งที่แล้วอย่างมากมาย หากจะให้ผมคุย ก็ผมเชื่อว่าที่ผมเขียนไปนั้นมีผล เพราะผมเคยบอกว่าอะไรที่ลงท้ายด้วยคำว่า " กลา " ต่อชื่ออาหารให้ชิมให้หมด คราวนี้อาหารทำจากหน่อกลามีมากมาย หากวนขวาของเกาะจะพบแยะ เช่นทอดมันหน่อกลา มีหลายเจ้า และเจ้าหนึ่งทางซ้ายของทางเดินมีตรา ที.วี. ช่องต่าง ๆ ชิมไว้ และสาวเจ้าถึงกับบอกว่าหากมาเกาะเกร็ดไม่ได้ชิมทอดมันหน่อกลาของเขาแล้ว เหมือนมาไม่ถึงเกาะเกร็ด นอกจากนั้นยังมีพวกกาแฟสด น้ำผลไม้ใส่ถ้วยปั้นดินเผาแก้วละ ๑๕ บาท ซื้อแล้วแถมแก้วให้เอากลับบ้านได้เลย "เก๋ดี" ข้าวแช่ ขนมจีน ข้าวแกง จิปาถะ อาหารมีมากมายให้ชิม ผมจะไปใหม่ไปดูวัดให้ละเอียดกว่านี้ เพราะเคยดูละเอียดแต่ที่วัดปรมัยยิกาวาสแห่งเดียว คราวนี้จะไปตระเวนหลาย ๆ วัด เอากันให้ทั่วไปเลย จบชิมของว่างเข้าไปค่อนกระเพาะก็กลับมาลงเรือ ที่มาจอดรอที่วัดไผ่ล้อม เพื่อออกเดินทางไปยังศูนย์ศิลปาชีพบางไทรต่อ ตามลำน้ำเจ้าพระยา มีการดูดทรายโดยเรือจากลำน้ำหลายแห่ง และจะมีมากมายหลายสิบลำตรงหน้าศูนย์ เพื่อดูดเอาทรายถมมาถมที่ดินของศูนย์ยื่นต่อเข้าไปในแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งกรมเจ้าท่าและกรมโรงงานอุตสาหกรรม ควบคุมกันดีหรือเปล่า ระวังจะลามไปถึงขั้นดูดเอาไปขายตลิ่งจะพังลงมา อาหารกลางวัน จ้างเหมาเขามาเตรียมไว้ในเรือเรียบร้อยแล้ว มีแกงเขียวหวาน ลูกชิ้นปลากราย ห่อหมก หมี่กรอบ หมูปิ้ง ขนมจีน และอีกหลายอย่างอร่อย ๆ ทั้งนั้น ของหวานก็เป็นผลไม้ ขนมชั้น ตะโก้ และบัวลอย กินกันจนพุงกางยังไม่หมด จะรอเอาไว้รอบบ่ายได้อีกรอบ แต่พอถึงเวลาเข้าจริง ๆ มีคนช่วยกินหมดแล้ว ถึงท่าน้ำศูนย์ศิลปาชีพบางไทรเอาเกือบบ่ายสามโมง พอขึ้นจากท่าเรือทางขวาของแพ มีเรือก๋วยเตี๋ยวอยู่ลำหนึ่ง จอดอยู่ตรงโป๊ะเลยทีเดียว เข้าใจว่าเจ้าเก่าดั้งเดิมซึ่งจะอร่อยมาก วันนี้ยังไม่มีพุงจะชิม อาฆาตเอาไว้ก่อนเพราะอาหารในเรือ แย่งที่ในพุงเอาไปหมดแล้ว ต้องเดินเที่ยวเสียก่อน ที่ท่าเรือเขาตั้งโต๊ะเก็บค่าผ่านเข้าชมคนละ ๕๐ บาท อย่านึกว่าแพง เข้าไปชมเสียก่อนแล้วจึงจะบอกว่าคุ้มค่า เก็บบัตรไว้ดี ๆ จะได้เดินกลับออกมากินก๋วยเตี๋ยวได้ อาคารใหญ่ตรงหน้าห่างออกไปสัก ๑๐๐ เมตร คือ ศาลาศูนย์ศิลปาชีพ สร้างแบบทรงไทยประยุกต์ น่าจะเป็นเช่นนั้น งดงามกว้างขวางมาก เปิดแอร์ให้เย็นฉ่ำเฉพาะวันหยุด วันธรรมดา คนเข้ามาชมน้อย ค่าไฟมหาโหดตกวันละ ๘,๐๐๐ บาท จึงต้องเปิดเฉพาะวันที่มีคนเข้ามาชมกันมาก เช่นเสาร์ อาทิตย์ เป็นต้น ผมยังไม่ได้เข้าชม ผมยืนรอรถไฟที่เอาร่างของรถไฟเล็กครอบเอาไว้ แล้วพ่วงรถพ่วงอีกหลายคัน นั่งหันหน้าเข้าหากัน น่าจะให้นั่งหันไปข้างหน้าทางเดียวจะดีกว่า รถวิ่งวนไปทางซ้ายผ่านร้านอาหารต่าง ๆ ผ่านบ้านเรือนโบราณ สระน้ำ กรงนก ล้วนแต่เป็นธรรมชาติที่งดงามทั้งสิ้น รถจอดให้ลงและรับผู้โดยสารใหม่ขึ้นเป็นระยะ ๆ เราชอบใจตรงไหนเราก็ลงไปชม ไปถ่ายรูปกันให้อิ่มเสียก่อน แล้วรอคันหลังเดี๋ยวก็มาอีก ไปชมต่อไป วิธีนี้จะชมได้รอบบริเวณที่ควรแก่การชมของศูนย์ หากไปรถส่วนตัวจะวิ่งรถชมเองก็ได้ แต่ผมว่าสู้นั่งรถไฟแบบนี้ชมไม่ได้ และสุดท้ายจะมาถึงยังกลุ่มสรรพหาร มีสารพัดอาหาร ทั้งข้าว ทั้งก๋วยเตี๋ยวมีหลายสิบร้าน ตลอดจนของขายต่าง ๆ แบบฝีมือชาวบ้าน คงจะชนิดที่ยังไม่ได้คัดเลือกที่เด่นจริง ๆ เหมือนที่ศาลา แต่ก็ขายกันเต็มหมด ขนมแห้งก็แยะ ห้องสุขาก็มีที่ตรงนี้ ลงชิม ลงซื้อเสียก่อน กลับมาขึ้นรถไปต่ออีก ไปจบที่ขึ้นมาตั้งแต่แรกคือที่หน้าศาลาศูนย์ศิลปาชีพ ทีนี้เข้าชมในศาลา ชั้นล่างเป็นห้องค้า เห็นแล้วจะตกใจว่าฝีมือคนไทยขนาดนี้เชียวหรือ เช่นพวกเครื่องแก้วต่าง ๆ เสียงหลายคนที่คงเคยไปเวนิช ของประเทศอิตาลีมาแล้ว ร้องกันเลยว่า ฝีมือเวนิชแพ้ช่างไทย ซึ่งผมว่าแพ้ไทยมานานแล้ว ความละเอียดจะสู้เราไม่ได้จะเป็นการเป่าแก้ว ทำเครื่องแก้วงดงามทั้งสิ้น เครื่องเบญจรงค์ที่เคยชนะการประกวดระดับชาติมาแล้ว ก็เอามาตั้งแสดงไว้ให้ชม สินค้าภายในห้องชั้นล่างนี้บรรยายไม่ไหว เพราะมีมากเหลือเกิน ฝีมือช่างไทยทั้งสิ้น ราคาสมกับค่าของสินค้า สวยมาก สวยจริง ๆ จะเป็นผ้าแพรพรรณ กระเป๋าสตรี เครื่องแก้ว เครื่องเบญจรงค์ ล้วนทั้งขนมหวานต่าง ๆ ซื้อกลับมาแล้วจึงรู้ว่าอร่อยเหลือ ถึงต้องกลับไปอีกไปหารายละเอียดเพิ่มเติมเอามาเขียนใหม่ ไปคราวนี้จะไปกันแค่ ๒ - ๓ คน จะได้เก็บรายละเอียดได้เต็มที่ ขนมนางเล็ดก็อร่อย ขนมกงก็วิเศษ สบู่สมุนไพร โดยเฉพาะทำจากใบบัวบก ล้างหน้าได้วิเศษนัก เพราะขจัดไขมันออกหมด ผมเลยทำหนุ่ม ซื้อมา ๒ ก้อน ๆ ละ ๗๐ บาท เอามาใช้เฉพาะตอนล้างหน้าเท่านั้น เพราะกลัวหมดเร็วไปชมเองแล้วจะทราบว่ามีค่าควรแก่การชม การซื้อเพียงใด ชั้นบน มีห้องนิทรรศการ ๒ ห้อง ซ้ายและขวา ไปดูแก้วที่เป็นเรือสุพรรณหงส์ กับนกยูงรำแพน และไม้แกะสลักเป็นรูปหญิงให้นมลูก ดูแค่นี้ก็คุ้มแล้วไม่ต้องไปดูอีกร้อยชิ้นหรอก จึงขอบรรยายถึงความวิเศษ ความน่าชม เพียงเท่านี้ ซึ่งผมบรรยายยังไม่ได้หนึ่งในร้อย ของความเป็นจริง จึงขอเชิญชวนไปศูนย์ศิลปาชีพบางไทรกัน ไปกินก๋วยเตี๋ยวเรือในแม่น้ำ หรือก๋วยเตี๋ยวเรือที่มีร้านขายอีกหลายร้านในศูนย์ ไปชิมอาหารดูบ้าง แล้วลองไปซื้อสบู่ใบบัวบกมาขจัดไขมันดู ใบหน้าจะได้งามอ่อนวัย ผมกลับจากศูนย์ศิลปาชีพบางไทรก็พอดีค่ำ ขึ้นจากเรือที่ท่ากรมชลประทาน แถว ๆ สามเสนเช่นขาลงเรือ จากนั้นก็วิ่งตรงเรื่อยมาจนมาเลี้ยวซ้ายเข้าถนนราชดำเนินกลาง พอถึงวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยซึ่งมุมแรกคือ มุมโรงเรียนสตรีวิทยา มุมที่สองคือร้านอาหาร "ร้านวิจิตร" ซึ่งเป็นร้านเก่าแก่ คงตั้งมานานร่วมสามสิบปีหรือมากกว่านั้น จอดรถหน้าร้านได้ ๑ แถว หากไม่มีให้วิ่งต่อไปนิดหนึ่งแล้วอ้อมไปจอดหลังร้าน ภายในร้าน จัดร้านสวย เก๋ไก๋เย็นสบายไม่ได้แวะมาชิมเสียหลายปี สภาพร้าน คงดีเยี่ยมเช่นเดิม เลือกนั่งโต๊ะที่ติดกับกระจก มองเห็นคนเดินผ่าน ชาวต่างประเทศเดินผ่านกันแยะทีเดียว ขึ้นมาจากแม่น้ำเลยสั่งกุ้งเผา เอาชนิดกุ้งแม่น้ำตัวโตเบ้อเริ่ม ราคาตัวละ ๑๙๐ บาท เผาแล้วผ่ามาให้เสร็จ กินสบาย เอามันกุ้งคลุกข้าวสวยร้อน ๆ วิเศษนัก ส่วนน้ำจิ้มของเขาก็มีรสแซ๊บ แต่บางทีผมชอบเอาน้ำปลาพริกมาราดมากกว่า ของกินเล่นที่สั่งมาก่อนคือ "กระทงทอง" กรอบแทบจะไม่ต้องออกแรงเคี้ยว ปูจ๋า ไม่ได้ใส่มาในกระดองปู ให้จิ้มด้วยซ๊อสศรีราชา ก้ามปูนึ่งฮ่องกง คงจะเป็นสูตรฮ่องกง แกะมาเรียบร้อยแกะสะดวก น้ำที่นึ่งมานั้นมากรสดีเยี่ยม ซดน้ำปูเสียเลยแทนแกง รสน้ำหวานนิด ๆ ด้วยความสดของปู และผักที่รวมมานึ่ง สตูว์ลิ้นวัว ใครที่กินเนื้อได้ อย่าโดดข้ามจานนี้ไปเป็นอันขาด เพราะรสสตูว์ของเขาเข้มข้นนัก ใส่มาทั้งมันฝรั่ง แครอทและถั่วลันเตา เนื้อนุ่มลิ้นเปื่อยได้ที่ ยกมากำลังร้อน ๆ พอเอาช้อนตักชิมน้ำสตูว์ รสอร่อยติดปลายลิ้นทันที ต้องราดข้าวแล้วเหยาะด้วย น้ำปลาพริกจึงจะเด็ดสมใจ จานนี้จานเดียวแล้วสั่งข้าวสวยร้อน ๆ มาก็อิ่มได้แล้ว แต่ผมคนตะกละถึงได้สั่งอาหารมาชิมหลายอย่าง ปิดท้ายด้วยไอศกรีมสตอเบอร์รี่เยลลี่หวาน เย็นไปทั่วปาก
.........................

โครงการพระราชดำริ งานทันตกรรม



ดิฉันขอขอบพระคุณท่านอธิบดี และกรมอนามัย ที่ให้ความสนใจกับวชิาชีพทันตแพทย์ และให้เกียรติดิฉันมาบรรยายเรื่อง "ในหลวงกับงานทันตกรรม" ดิฉันได้มีโอกาสรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2512 นับเป็นเวลารวม 35 ปีแล้ว จึงได้รับทราบถึงพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระองค์ท่านทรงมีต่อวิชาชีพทันตแพทย์ และงานทันตกรรม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีโครงการตามพระราชดำริ ที่เป็นงานทันตกรรม อยู่หลายโครงการ


เมื่อปี พ.ศ.2513 ภายหลังจากที่ทำพระทนต์ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านทรงรับสั่งถามว่า "เวลาที่พระองค์ท่านมีปัญหา เกี่ยวกับฟัน มีทันตแพทย์มาช่วยกันดูแลรักษา แล้วราษฎรที่อยู่ห่างไกลความเจริญ มีหมอช่วยดูแลรักษาหรือเปล่า" เมื่อได้ทรงทราบจากทันตแพทย์ ผู้ถวายการรักษาว่า ไม่มี แม้แต่จังหวัดบางจังหวัด เช่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไม่มีทันตแพทย์ประจำ อำเภอแทบทุกอำเภอในขณะนั้น ไม่มีทันตแพทย์เลย เมื่อพระองค์ท่านทรงทราบ จึงรับสั่งว่า

"โรคฟัน เป็นโรคของทุกคน การที่จะให้ราษฎรผู้ยากไร้ และอยู่ห่างไกลความเจริญ ต้องทิ้งท้องไร่ท้องนา เข้ามารับการรักษาในเมือง คงเป็นไปไม่ได้ น่าที่ทันตแพทย์ จะเดินทางไปดูแลเป็นครั้งคราว ซึ่ง พระราชดำรัสในครั้งนั้น นับเป็นจุดเริ่มต้น งานทันตกรรมเคลื่อนที่ หรืองานทันตกรรมชนบท เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานรถทำฟันเคลื่อนที่ พร้อมอุปกรณ์ครบ 1 คัน พนักงานขับรถ และผู้ช่วย และขอทันตแพทย์อาสาสมัคร จากคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ครั้งละ 2 คน ออกไป ให้บริการทำฟัน และดูแลสุขภาพในช่องปาก ให้กับราษฎรที่ยากจน ตามตำบล และอำเภอต่างๆ ที่อยู่ห่างไกล โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเจิมรถทันตกรรมเคลื่อนที่คันแรก เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2513 ที่พระราชวังไกลกังวล หัวหิน และได้ออกบริการประชาชนที่อำเภอทับสะแก ใกล้เขตแดนพม่าเป็นครั้งแรก ทันตแพทย์อาสาจะผลัดเปลี่ยนกันทุกอาทิตย์ การให้บริการทำตลอดปี ยกเว้นฤดูฝน โดยย้ายไปตามอำเภอต่างๆ อำเภอละ 1 วัน ในระยะแรก การให้บริการ เป็นการถอนฟัน และให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพช่องปาก เป็นส่วนใหญ่ เพราะราษฎรไม่เคยได้รับ การดูแลเรื่องฟันมาเลยในชีวิต

บัดนี้ หน่วยทันตกรรมพระราชทาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ให้บริการแก่ราษฎรผู้ยากไร้ และด้อยโอกาสมาเป็นเวลานานถึง 35 ปี ได้มีการพัฒนาไปอย่างมาก ในอดีต สามารถให้การรักษาได้วันละประมาณ 50-70 คน และทำการถอนฟันเป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันนี้ สามารถให้บริการได้ถึง 1,200-1,500 คนต่อวัน การบริการสามารถให้บริการได้ เช่นเดียวกับโรงพยาบาลใหญ่ๆ นับตั้งแต่การตรวจรักษาโรคในช่องปาก ถ้าพบโรคร้ายแรง เช่น มะเร็งในช่องปาก ปากแหว่งเพดานโหว่ ฯลฯ ก็จะนำไปรักษาที่โรงพยาบาลใหญ่ๆ หรือที่คณะทันตแพทย์ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับไว้เป็นคนไข้ในพระราชนุเคราะห์ นอกจากนั้น ยังให้ความรู้ทางทันตสุขภาพ บริการถอนฟัน ทั้งยากและง่าย รวมทั้งการผ่าตัด ที่สามารถทำในหน่วยเคลื่อนที่ได้ บริการรักษาโรคเหงือก การอุดฟันทั้งยากและง่าย นอกจากนั้น ในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา สามารถให้บริการรักษาคลองรากฟัน ซึ่งโดยปกติไม่สามารถให้การรักษา ในหน่วยเคลื่อนที่ได้ แต่จากการศึกษาวิจัย สามารถให้การรักษาให้เสร็จสิ้น ภายในวันเดียวได้ รวมทั้งการบริการด้านการใส่ฟัน ทั้งฟันเทียมบางส่วนถอดได้ ฐานพลาสติก หรือการใส่ฟันทั้งปาก ก็สามารถทำในหน่วยเคลื่อนที่ได้ ทำให้ผู้สูงอายุเป็นจำนวนมากได้รับบริการ คณาจารย์ประจำหน่วยทันตกรรมพระราชทาน ได้พัฒนาเทคนิคในการใส่ฟันเทียม ให้ได้คุณภาพ แต่สามารถลดขั้นตอนลง ทำให้สามารถทำในหน่วยเคลื่อนที่ได้
เนื่องจากมีราษฎรมารับบริการวันละจำนวนมาก เก้าอี้ทำฟันจึงต้องมีจำนวนถึง 45 ชุด และทันตแพทย์อาสาสมัคร ที่ให้บริการจึงมีจำนวนถึง 50-60 คน ปัจจุบัน หน่วยทันตกรรมพระราชทานหน่วยนี้ จึงนับเป็นหน่วยทำฟันเคลื่อนที่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีทันตแพทย์ชาวต่างประเทศให้ความสนใจ มาสมัครเป็นอาสาสมัครในหน่วยนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นค่าใช้จ่ายทุกประการ

ปัจจุบัน มีผู้สูงอายุจำนวนมาก ต้องการใส่ฟันเทียม แต่ยังไม่ได้รับการดูแล ทั้งนี้เพราะทันตบุคลากรมีน้อย การใส่ฟันต้องใช้เทคโนโลยีเฉพาะ จากการได้มีโอกาสเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านทรงเล่าว่า วันหนึ่งเสด็จเยี่ยมราษฎรที่จังหวัดขอนแก่น มีราษฎรคนหนึ่งเป็นผู้สูงอายุ ร่างกายซูบผอม ไม่สบาย พระองค์ท่านรับสั่งถาม "เป็นอะไร ไม่สบายหรือ?" ราษฎรผู้นั้นทูลตอบว่า "ไม่สบาย ฟันไม่มี กินอะไรไม่ได้" พระองค์ท่านจึงบอกว่า "ไปใส่ฟันซะ แล้วจะเคี้ยวอะไรได้ ร่างกายจะได้แข็งแรง"

ในปีต่อมา เมื่อพระองค์ท่านเสด็จเยี่ยมราษฎร ที่จังหวัดขอนแก่นอีกครั้งราษฎรผู้นั้นได้มาเฝ้า และทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า "ไปใส่ฟันมาแล้ว ตามที่ในหลวงแนะนำ ตอนนี้กินอะไรได้ สบายแล้ว" เมื่อได้ฟัง ทำให้คิดว่า เรื่องการใส่ฟันเป็นเรื่องสำคัญ ด้วยเหตุนี้ หน่วยทันตกรรมพระราชทาน จึงสนองพระราชดำรัส ทำให้มีการใส่ฟันให้กับราษฎรที่ยากไร้ และด้อยโอกาสในหน่วยเคลื่อนที่นั้น ดิฉันรู้สึกดีใจเป็นอันมาก เมื่อทราบว่า กรมอนามัย และกระทรวงสาธารณสุข จะจัดทำโครงการฟื้นฟูสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุ และใส่ฟันเทียมจำนวน 80,000 ราย เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา ในปี 2550 นี้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระเมตตา ให้อาสาสมัครในหน่วยทันตกรรมพระราชทาน ได้เฝ้ากราบพระบาทเสมอ เมื่อมีโอกาส พระองค์ท่านจะทรงเน้นเสมอในเรื่อง 2 เรื่อง
สถานที่ปฏิบัติงาน ควรเป็นที่ห่างไกลความเจริญ ที่ไม่มีทันตแพทย์ หรือมีทันตแพทย์ไม่เพียงพอ และควรให้โอกาสผู้ที่ยากไร้ และด้อยโอกาสก่อน ทั้งนี้ ท่านคงทรงหมายถึง ความเสมอภาค คนจน คนรวย ควรได้รับการดูแลเท่าเทียมกัน และทรงรับสั่งฝากว่า เวลาจะออกหน่วยฯ ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่บ้านเมือง เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือสาธารณสุขจังหวัด ได้ทราบ เพื่อแจ้งให้ราษฎรที่มีปัญหาได้ทราบ จะได้เข้ามารับการรักษา ซึ่งหมายถึง การคุ้มทุน มีทันตแพทย์ไปให้บริการครั้งละหลายคน แต่มีราษฎรมารับการรักษา เพียงไม่กี่คน ทำให้เสียทั้งเวลา และค่าใช้จ่าย รวมทั้งเมื่อเจ้าหน้าที่บ้านเมือง มารับทราบว่า ราษฎรของเขามีปัญหา มีความต้องการ เมื่อเห็นเป็นสิ่งที่ดี จะได้ปฏิบัติตาม หน่วยทันตกรรมพระราชทาน เหมือนเป็น pilot project ให้
เมื่อออกหน่วยฯ อย่าได้ไปรบกวนเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ไม่ต้องให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองมาต้อนรับ เลี้ยงดู เพราะเจ้าหน้าที่บ้านเมืองมีหน้าที่ ที่ต้องปฏิบัติมากอยู่แล้ว ให้อาสาสมัครหารับประทานเอง ฉะนั้น เวลาออกหน่วย จึงขอเป็นอาหารกล่องเป็นส่วนใหญ่ การออกหน่วยฯ ขณะนี้เน้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะราษฎรมีจำนวนมาก เมื่อเทียบกับจำนวนทันตแพทย์ การออกปฏิบัติงาน ทันตแพทย์ส่วนหนึ่งต้องออกปฏิบัติงาน ตั้งแต่ ตี 5 เพื่อไปจัดเตรียมเครื่องมือ เพื่อทันตแพทย์ส่วนใหญ่จะเริ่มปฏิบัติงาน ประมาณ 8.30 น. จนถึงประมาณ 5-6 โมงเย็น การปฏิบัติงาน เครื่องมือต้องมีเป็นจำนวนมาก เรื่องความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เครื่องมือทุกชิ้นต้องปราศจากเชื้อ ฉะนั้นในเรื่องนี้ต้องมีทันตแพทย์ และเจ้าหน้าที่ควบคุมเป็นพิเศษ ก่อนกลับเข้าที่พักแทบทุกวัน อาสาสมัครจะได้มีโอกาสทัศนศึกษา หรือกราบนมัสการพระเกจิอาจารย์ทั้งหลาย
โครงการทันตกรรมพระราชทานที่กล่าวมาแล้ว เป็นเพียงโครงการในพระราชดำริโครงการหนึ่ง ยังมีโครงการในพระราชดำริอีก 3 โครงการ คือ
โครงการตามเสด็จ เวลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จทรงเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นที่ห่างไกลความเจริญ จะมีทันตแพทย์ตามเสด็จ ถ้าพบราษฎรมีปัญหาเกี่ยวกับฟัน หรือสุขภาพในช่องปากจะได้ให้บริการได้ทันที
โครงการทันตกรรมทางเรือ ได้พระราชทานเรือเวชพาหน์ ให้สภากาชาดออกให้บริการทางการแพทย์ และทางทันตกรรม ดูแลราษฎรที่อาศัยอยู่ตามสองฝั่งคลอง เนื่องจากการคมนาคมทางบกไม่สะดวก
โครงการทันตกรรมหน้าวัง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จแปรพระราชฐานที่พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ทักษิณราชนิเวศน์ หรือภูพานราชนิเวศน์ จะมีรถทำฟันเคลื่อนที่ของกองทัพบก ให้บริการแก่ราษฎร บริเวณเน้าวังที่ประทับแทบทุกวัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานหน่วยทันตกรรมพระราชทาน ให้คณะทันตแพทย์ จุฬาฯ เป็นคณะแรก เมื่อ พ.ศ.2513 ต่อมาได้พระราชทานหน่วยทันตกรรมพระราชทาน ให้คณะทันตแพทย์อีก 6 คณะ
คณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดูแลราษฎรทางภาคเหนือตอนบน
คณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดูแลราษฎรทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
คณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดูแลราษฎรทางภาคใต้
คณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ดูแลราษฎรทางภาคเหนือตอนล่าง
คณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ดูแลราษฎรทางภาคกลาง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ ที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจัดถวาย จำนวน 50 ล้าน จัดตั้งเป็นกองทุนทันตกรรม พระราชทานเฉลิมพระเกียรติฯ ให้คณะทันตแพทย์ทั้ง 8 สถาบัน เป็นค่าใช้จ่ายในการให้บริการ และใช้จ่ายในโครงการต่างๆ ทางทันตแพทย์ เพื่อให้ประชาชนคนไทยมีสุขภาพในช่องปากดี ในการบริหารกองทุน จะมีคณบดีทุกคณะ เป็นกรรมการ ซึ่งจะมีการประชุมกันเป็นประจำ เพื่ออนุมัติโครงการต่างๆ

ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนพรรษา 72 พรรณา ได้จัดทำหนังสือเรื่อง "ในหลวง กับงานทันตกรรม" ถวาย เนื่องในวโรกาสอันสำคัญนี้
ในวาระมหามงคลครบ 100 ปี สมเด็จย่า หน่วยทันตกรรมพระราชทานของทุกคณะ ได้ให้บริการใส่ฟันผู้สูงอายุ และจัดทำหนังสือ "เพื่อรอยยิ้มใสในวัยสูงอายุ" เพื่อเผยแพร่แก่หน่วยงาน และประชาชนทั่วไป
เมื่อปี 2547 ที่ผ่านมา ในวาระมหามงคลที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงมีพระชนมายุครบ 72 พรรษา กองทุนทันตกรรมพระราชทานฯ คณะทันตแพทย์ทั้ง 8 คณะ และกรมอนามัยได้จัดประชุมวิชาการ และจัดทำหนังสือ "ช่วยลูกรักให้ฟันดี" ถวายแต่พระองค์ท่าน
เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงมีพระชนมายุครบ 48 พรรษา และโดยที่พระองค์ท่านทรงสนพระทัยเป็นพิเศษ เกี่ยวกับเด็กเล็ก ทางกองทุนร่วมด้วย คณะทันตแพทย์ทั้ง 8 คณะ จัดทำหนังสือเรื่อง "ลูกรักฟันดี" ถวายแก่พระองค์ท่าน เพื่อทรงประทานให้กับโรงเรียนต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร เพื่อใช้ประโยชน์

ทุกครั้งที่ทันตแพทย์อาสาสมัคร มีโอกาสเฝ้ากราบพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านจะ ทรงพระเมตตา พระราชทานคำสอน คำแนะนำ และความห่วงใยเสมอมา ดิฉันใคร่ขออัญเชิญคำแนะนำ คำสั่งสอนเหล่านั้น มาเล่าให้ฟังบางเรื่อง เนื่องจากมีเวลาจำกัด
ทรงสอนเรื่อง การรักษาแบบองค์รวม ก่อนที่เราท่านทั้งหลายที่อยู่ด้านการแพทย์ จะเข้าใจ คือ เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสอนว่า เวลาออกหน่วยฯ อย่าดูแต่เรื่องฟันอย่างเดียว ให้ดูเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น สังเกต ขาเจ็บ ตาบวม เจ็บคอ ฯลฯ เพราะทันตแพทย์ก็เป็นแพทย์เหมือนกัน เรียนมาเหมือนกัน ถ้ารักษาได้ก็ควรให้การรักษา ถ้ารักษาไม่ได้ ควรให้คำแนะนำส่งต่อไปรักษา ราษฎรจะได้รับการดูแลแต่เนิ่นๆ และต้องซักถามทุกข์สุข เรืองการทำมาหากิน ถนนหนทาง น้ำท่า เพราะถ้าน้ำไม่มี จะให้แปรงฟันวันละ 2 ครั้งได้อย่างไร ถนนไม่ดี จะให้มาพบหมอปีละ 2 ครั้งได้อย่างไร ปัจจุบันนี้ เราเน้นเรื่องการรักษาแบบ Holistic cate คือ ไม่รักษาเฉพาะกายอย่างเดียว ต้องดูถึง จิต สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อท และจิตวิญญาณด้วย
ทรงพระราชทาคำแนะนำว่า การศึกษา และการวิจัย เป็นเรื่องสำคัญ ทันตแพทย์ควรมีหลากหลาย ไม่ใช่สนใจรักษาแต่อย่างเดียว แต่ต้องสนใจงานวิจัย รวมทั้งงานประดิษฐ?คิดค้นวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยเหตุนี้ เมื่อหลายปีที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานภาพยนตร์ส่วนพระองค์ ให้ฉายเพื่อหารายได้ มาสมทบกับงบประมาณแผ่นดิน สร้างตึกในคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และพระราชทานนามว่า "ตึกทันตรักษ์วิจัย" และเสด็จวางศิลาฤกษ์ และเปิดตึกด้วยพระองค์เองพร้อมกัน มีรับสั่งว่า การวิจัยเป็นเรื่องสำคัญ
เมื่อทันตแพทย์ กรมอนามัยต้องการทำการวิจัยในการทดลอง เติมฟลูออไรด์ในนม พระองค์ท่านทรงพระราชทาน พระราชานุญาตให้ใช้โรงนม สวนจิตรลดา เป็นแหล่งทดลอง
ทางด้านการศึกษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่กัว ได้ พระราชทานทุน "มูลนิธิอานันทมหิดล ให้แผนกทันตแพทย์" เมื่อ พ.ศ.2535 เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จทำพระทนต์ที่คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณบดี และคณะกรรมการในองค์กรผู้บริหาร คณะทันตแพทยศาสตร์ แห่งประเทศไทย ได้มีโอกาสเฝ้ากราบพระบาทด้วยในวันนั้น เมื่อพระองค์ท่านได้ทรงทราบว่า แผนกทันตแพทย์ยังไม่เคยได้รับพระราชทานทุน "มูลนิธิอานันทมหิดล" เหมือนแผนกอื่นๆ พระสงค์ท่านทรงรับสั่งว่า "ทันตแพทย์มีความสำคัญ มีประโยชน์ต่อสังคม ควรได้รับทุน และทรงกำชับว่า เวลาคัดเลือก อย่าเลือกแต่คนเก่งอย่างเดียว คัดเลือกคนดีด้วย" บัดนี้ ทันตแพทย์ได้รับพระราชทานทุนไปเรียนต่อ ในระดับปริญญาเอก รวม 14 คน นักเรียนทุนทุกคน ก่อนที่จะไปต้องเข้าเฝ้า เพื่อกราบทูลลา เวลาจบการศึกษาต้องเข้าเฝ้า เพื่อกราบทูลถวายรายงาน ผลการศึกษาทุกคน มีเรื่องเล่าให้ท่านอธิบดี และกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มเติม เกี่ยวกับนักเรียนทุนอานันทมหิดล วันหนึ่ง ได้พานักเรียนทุนอานันมหิดลเฝ้าสมเด็จพระเทพรัตนฯ เพื่อถวายรายงานผลการศึกษา พระองค์ท่านรับสั่งถามว่า "ไปเรียนอะไรมา กลับมาจะทำอะไร" นักเรียนทุนผู้นั้นทูลตอบว่า "ไปเรียนทางด้าน Material Science อยากจะได้ทำวัสดุอุดฟัน Composite ขึ้นใช้เองในประเทศไทย เพราะเป็นที่นิยมกันมาก แต่มีราคาแพง ถ้าทำได้ จะถูกกว่าต่างประเทศเป็นอันมาก" สมเด็จพระเทพรัตนฯ ทรงรับสั่งว่า "ดีแล้ว ทำขึ้นใช้เอง ถ้าทดลองแล้ว ไม่รู้จะทดลองกับใคร มาทดลองกับฉันก็ได้" จะเห็นว่า พระองค์ท่านทรงสนพระทัย ทรงยอมทุกอย่าง ทรงอยากเห็นสิ่งดีๆ เกิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อคนไทยรู้จักที่จะพึ่งพาตนเอง บัดนี้ นักเรียนทุนผู้นั้น ได้คิดค้นวัสดุอุดฟันขึ้นใช้เอง มีคุณสมบัติทัดเทียมต่างประเทศ มีราคาถูก จึงอยากเรียนฝากให้กระทรวงสาธารณสุข ให้การสนับสนุนในการใช้วัสดุนี้ด้วย
รางวัลสิ่งประดิษฐ์ การออกหน่วยทันตกรรมพระราชทานในสมัยแรกๆ จะให้บริการเฉพาะถอนฟัน และให้ความรู้เท่านั้น ต่อมาภายหลังมีผู้นำเครื่องกรอฟันสนามของ WHO มาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อใช้ในหน่วยทันตกรรมพระราชทาน จึงได้กราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีรับสั่งว่า "เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำไมไม่คิดค้นเครื่องมือเครื่องใช้ขึ้นเองให้เหมาะกับสภาพบ้านเมืองของเรา" ในที่สุด ทันตแพทย์ในหน่วยฯได้ร่วมกันประดิษฐ์ คิดค้น ศึกษา วิจัย ทดลอง จนสามารถคิดค้น เก้าอี้ทำฟัน อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้การออกหน่วยแทบทุกชนิดขึ้นใช้เอง มีน้ำหนักเบา ขนย้ายได้สะดวก มีราคาถูก เหมาะกับสภาพบ้านเมืองไทย และเมื่อทำใช้สำเร็จ ได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ พระองค์ท่านรับสั่งว่า "ทำได้เช่นนี้ ควรนำไปประกวดสิ่งประดิษฐ์ ที่สภาวิจัยแห่งชาติ ถ้าได้รับรางวัล จะได้ไปขายให้ประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีสภาพบ้านเมืองคล้ายกับเรา" เมื่อนำไปประกวด ตามที่พระองค์ท่านทรงแนะนำ และได้รับรางวัลสิ่งประดิศ์ จึงได้นำรางวัล และเกียรติบัตรเฝ้าพระบาท ทูลเกล้าฯ ถวาย เป็นรางวัล พระองค์ท่านทรงเก็บไว้ แต่เกียรติบัตรพระราชทานคืนมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพอพระทัยที่ทันตแพทย์รู้จักที่พึ่งพาตนเอง ลดการนำเข้า และเพื่อการส่งออก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเคยรับสั่ง เล่าถึงคนแก่ที่ขอนแก่น ที่ทรงแนะนำให้ไปใส่ฟัน และพระองค์ท่านทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการใส่ฟัน เพื่อทดแทนฟันที่หายไปว่า "เวลาไม่มีฟัน ทำให้กินอะไรไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข จิตใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง" เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2546 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ พระราชทานรถใส่ฟันเคลื่อนที่ ซึ่งเป็นรถใส่ฟันเคลื่อนที่คันแรก ในประเทศไทย ให้หน่วยทันตกรรฒฯ ไปใช้ บัดนี้ รถทำฟันเคลื่อนที่คันนี้ ได้ให้บริการการใส่ฟันแก่ราษฎรผู้ยากไร้ และด้อยโอกาส ได้มีฟันไว้ใช้บดเคี้ยวอาหาร เพื่อร่างกายแข็งแรงมาหลายครั้งแล้ว

เมื่อครั้งที่วิชาชีพทันตแพทย์มีอายุครบ 50 ปี คณะกรรมการได้จัดสร้าง พระประจำวิชาชีพทันตแพทย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานส่วนพระทนต์ แบบหล่อพระทนต์ ผงจิตรลดา และพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. มาประดิษฐาน และเป็นมวลสาร ในองค์พระพุทธชินสีห์ ภปร. ที่จัดสร้างขึ้น และสมเด็จพระเทพฯ ได้เสด็จมาทรงเททองด้วยพระองค์เอง และสมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงเป็นประธานฝ่ายสงฆ์

ภาพนี้ เป็นภาพหลอดยาสีฟัน หรือหลอดยาสีพระทนต์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ดิฉันนำมาเล่า เพื่อให้เห็นถึงพระราชจริยวัตร ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงประหยัด วันหนึ่ง หลังจากทำพระทนต์ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีรับสั่ง เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการประหยัด ดิฉันได้กราบบังคลทูล ถึงนิสิตนักศึกษา เดี๋ยวนี้ไม่ประหยัด ชอบใช้ของ Brand name ไม่มีเงินซื้อก็เช่ามาใช้ ไม่เหมือนสมเด็จพระเทพฯ ที่ท่านทรงถือกระเป๋าราคาถูก ใช้ของถูกๆ ไม่ต้องมียี่ห้อ และทูลว่า เคยเห็นหลอดยาสีพระทนต์ ของสมเด็จพระเทพฯ ท่านทรงใช้จนหมด หลอดแบนราบ พระองค์ท่านทรงรับสั่งว่า ของพระองค์ท่านก็มี และทรงเล่าว่า "วันหนึ่ง มหาดเล็กห้องสรง นึกว่า ยาสีฟันหมดแล้ว นำไปทิ้ง และนำหลอดใหม่มาถวาย ท่านทรงเรียกให้เอามาคืน และยังทรงใช้ต่อได้อีก 5 วัน" ดิฉันจึงขอพระราชทานมาให้ลูกศิษฐ์ และคณาจารย์ และทันตแพทย์ได้ดูเป็นตัวอย่าง แห่งความประหยัด

คุณวิลาส มณีวัต ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับ พระอารมณ์ขันของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดิฉันมีเรื่องพระอารมณ์ขันที่รับทราบ มาหลายเรื่อง แต่ขออัญเชิญมาเล่าเฉพาะเรื่อง ที่เกี่ยวกับทันตแพทย์โดยตรง สัก 2 เรื่อง
วันหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จทรงเยี่ยมราษฎร และเสด็จทอดพระเนตรโรงงานเครื่องปั้นดินเผา พระองค์ท่านทอดพระเนตรเห็นกบ เอามือกุมคาง เหมือนปวดฟัน จึงให้มหาดเล็กซื้อมา และเมื่อถึงที่ประทับ พระองค์ท่านได้มีวิทยุถึงทันตแพทย์ที่ตามเสด็จว่า "จะส่งคนไข้ไปให้รักษา" ทันตแพทย์ผู้นั้นก็รอ ด้วยใจระทึกว่า คนไข้จะเป็นใคร คงมีความสำคัญมาก ถึงขนาด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงฝากฝังด้วยพระองค์เอง ในที่สุดก็ได้รับทราบว่า เป็นกบที่กำลังปวดฟันอยู่
พระอารมณ์ขันอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อครั้งที่ทันตแพทย์อาสาสมัครในหน่วยทันตกรรมพระราชทาน ได้เฝ้ากราบพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชวังไกลกังวล หลังจากออกปฏิบัติงานที่ ตำบลป่าเต็ง ที่อำเภอหัวหิน ดิฉันได้กราบบังคมทูลว่า วันนี้ขณะออกหน่วยฯ มีเด็กชายอายุ 10 ขวบมาถอนฟัน พอนั่งเก้าอี้ทำฟัน เขาพูดว่า หมออย่าทำเจ็บนะ ผมเป็นลูกกำนันนะ พระองค์ท่านทรงรับสั่งถามว่า "แล้วทำเขาเจ็บหรือเปล่า" ต่อมาท่านก็ทรงมีรับสั่งเรื่องอื่นๆ ไปอีกนาน จนในที่สุดท่านทรงมีรับสั่งว่า "นานแล้ว คุณหมอผู้ถวายการรักษาได้มารักษาคลองรากฟัน ทำแล้วท่านยังทรงปวดอยู่ แต่หมอท่านนั้นก็ยืนยันว่า เอาพระประสาทออกหมดแล้ว ไม่น่าจะทรงปวด" ในที่สุดก็แยงไปแยงมา ดึงประสาทเส้นหนึ่งขึ้นมา พระองค์ท่านทรงทำพระหัตถ์ประกอบ และทรงรับสั่งต่อว่า "ความจริงเราเจ็บมากนะ แต่เราไม่กล้าร้อง ไม่กล้าพูด เพราะเราไม่ใช่ลูกกำนัน" ทำให้ทันตแพทย์ที่เฝ้าทุกคนต้องหัวเราะ และรับทราบถึงพระอารมณ์ขันของพระองค์ท่าน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ประเสริฐ ผู้บริสุทธิ์ ปราศจากอคติ เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตา มากล้นด้วยความห่วงใยต่อวิชาชีพ ประชาชน และประเทศชาติ สมควรที่เราทั้งหลาย จะน้อมนำพระราชจริยวัตรอันงดงาม มาปฏิบัติตามรอยพระยุคลบาท เพื่อประโยชน์ต่อตนเอง ต่อสังคม และต่อประเทศชาติ ในที่สุด
ดิฉันขอจบการบรรยายแค่เพียงเท่านี้ ขอบพระคุณค่ะ

ในหลวง กับงานทันตกรรม"

โครงการ "ฟันเทียมพระราชทาน"
ผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรก ของ โครงการ "ฟันเทียมพระราชทาน"(ตุลาคม 2547-มีนาคม 2548)
ภาพกิจกรรม

Copyright © กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

โครงการฝนหลวง

โครงการฝนหลวง


จากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเยี่ยมราษฎรในจังหวัดต่างๆเป็นประจำ ได้ทรงพบเห็นท้องถิ่นหลายๆแห่งประสบปัญหาความแห้งแล้ง หรือขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการทำเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูเพาะปลูก เกษตรกรจะประสบความเดือดร้อน ทุกข์ยากมาก เนื่องจากบางครั้งฝนได้ทิ้งช่วงนานหรือภาวะฝนทิ้งช่วงเกิดในระยะวิกฤติของพืชผล คือพืชอยู่ในระยะที่กำลังให้ผลผลิตต่ำ หรืออาจจะไม่มี ผลผลิตให้เลย เป็นต้น ดังนั้นภาวะฝนแล้ง หรือฝนทิ้งช่วงใน แต่ละครั้ง/แต่ละปีจึงสร้างความเดือดร้อน และความสูญเสียทางเศรษฐกิจแก่เกษตรกรเป็นอย่างสูง นอกจากนี้ภาวะความต้องการใช้น้ำนับวันจะทวีปริมาณความต้องการเพิ่มสูงขึ้นตามอัตราการเพิ่มของประชากร การขยายพื้นที่เกษตรกรรมและการเจริญเติบตของกลุ่มอุตสาหกรรม
ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกลและทรง ความอัจฉริยะในพระองค์ท่านดังนั้นในปี พุทธศักราช2498จึงได้มีพระราชดำริค้นหาวิธีการ ที่จะทำให้เกิดฝนตกนอกเหนือจากที่จะได้รับ จากธรรมชาติโดยนำเทคโนโลยีนำสมัยและทรัพยากร ที่มีอยู่ประยุกต์กับศักยภาพของการเกิดฝน ในเขตร้อน เช่น ประเทศไทยมุ่งขจัดปัญหา ความเดือดร้อนดังกล่าว และทรงมีพระราชหฤทัย เชื่อมั่นว่าวิธีการดังกล่าวนี้ จะทำให้ การพัฒนาระบบการจัดทรัพยากรน้ำของชาติเกิด ความพร้อมและครบบริบูรณ์ตามวัฏจักรของ น้ำ คือ
1.
การพัฒนาระบบ การจัดการทรัพยากรแหล่งน้ำใต้ดิน
2.
การพัฒนาระบบ การจัดการทรัพยากรแหล่งน้ำผิวดิน
3.
การพัฒนา การ จัดการทรัพยากรแหล่งน้ำใน บรรยากาศและทรงเชื่อมั่นในพระราชหฤทัย ว่าด้วย ลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศ ของประเทศจะ สามารถดำเนินการให้บังเกิดผลสำเร็จได้ อย่างแน่นอน
ดังนั้น ในปี พุทธศักราช 2499 จึงได้ทรง พระมหากรุณาพระราชทาน โครงการพระราชดำริ "ฝนหลวง" ให้หม่อมราชวงศ์ เทพฤทธิ์ เทวกุล รับไปดำเนินการ ศึกษา วิจัย และ การพัฒนา กรรมวิธีการทำฝนให้บังเกิดผลโดยเร็ว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงกำหนดขั้นตอนของกรรมวิธีการทำฝนหลวงขึ้นเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายๆ ตามลำดับ ดังนี้
ขั้นตอนที่หนึ่ง : "ก่อกวน" เป็นขั้นตอนที่เมฆธรรมชาติ เริ่มก่อตัวทางแนวตั้ง การปฏิบัติการฝนหลวง ในขั้นตอนนี้ จะมุ่งใช้สารเคมีไปกระตุ้น ให้มวลอากาศเกิดการลอยตัวขึ้นสู่ เบื้องบน เพื่อให้เกิดกระบวนการชักนำไอน้ำ หรือ ความชื้นเข้าสู่ระบบการเกิด เมฆ ระยะ เวลาที่จะปฏิบัติการในขั้นตอนนี้ ไม่ควรเกิน 10.00 น. ของแต่ละวัน โดยการใช้ สารเคมีที่สามารถดูดซับไอน้ำจากมวล อากาศได้ แม้จะมีเปอร์เซ็นต์ความชื้นสัมพัทธ์ ต่ำ (มี ค่า Critical relative humidity ต่ำ)เพื่อกระตุ้น กลไกของกระบวนการกลั่นตัวไอน้ำในมวล อากาศ (เป็นการสร้าง Surrounding ให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเมฆด้วย) ทางด้านเหนือ ลมของพื้นที่เป้าหมาย เมื่อเมฆเริ่มเกิด มีการก่อตัว และเจริญเติบโตทางตั้งแล้ว จึงใช้สารเคมีที่ให้ปฏิกิริยาคาย ความร้อนโปรยเป็นวงกลม หรือเป็นแนวถัดมา ทางใต้ลมเป็นระยะทางสั้นๆ เข้าสู่ก้อนเมฆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดกลุ่มแกนร่วม(main cloud core) ในบริเวณ ปฏิบัติการสำหรับใช้เป็นศูนย์กลาง ที่ จะสร้างกลุ่มเมฆฝนในขั้นตอนต่อไป
ขั้นตอน ที่ สอง : "เลี้ยง ให้ อ้วน" เป็นขั้นตอนที่เมฆกำลัง ก่อตัวเจริญเติบโตซึ่งเป็นระยะสำคัญมาก ในการปฏิบัติการฝนหลวง เพราะจะต้องไป เพิ่มพลังงานให้แก่ updraft ให้ยาวนานออกไป ต้อง ใช้เทคโนโลยีและประสบการณ์หรือศิลปะแห่ง การทำฝนควบคู่ไปพร้อมๆ กัน เพื่อตัดสินใจ โปรยสารเคมีฝนหลวงชนิดใด ณ ที่ใดของกลุ่ม ก้อนเมฆ และในอัตราใดจึงเหมาะสม เพราะ ต้องให้กระบวนการเกิดละอองเมฆสมดุล กับความแรงของ updraft มิฉะนั้นจะทำให้เมฆ สลาย
ขั้นตอน ที่ สาม : "โจมตี" เป็นขั้นตอนสุดท้ายของกรรมวิธี ปฏิบัติการฝนหลวง เมฆ หรือ กลุ่มเมฆฝนมี ความหนาแน่นมากพอที่จะสามารถตกเป็น ฝนได้ ภายในกลุ่มเมฆจะมีเม็ดน้ำขนาดใหญ่มากมาย หากเครื่องบินบินเข้าไปในกลุ่มเมฆฝนนี้ จะมีเม็ดน้ำเกาะตามปีก และกระจังหน้า ของเครื่องบิน เป็นขั้นตอนที่สำคัญ และอาศัย ประสบการณ์มาก เพราะจะต้องปฏิบัติการเพื่อ ลดความรุนแรงของ updraft หรือทำให้อายุของ updraft หมดไป สำหรับการปฏิบัติการในขั้นตอนนี้ จะต้องพิจารณาจุดมุ่งหมายของการทำฝนหลวง ซึ่งมีอยู่ 2 ประเด็นคือเพื่อเพิ่มปริมาณฝนตก (Rain enhancement) และเพื่อให้เกิดการกระจายการตกของฝน (Rain redistribution)
เครื่องมือและอุปกรณ์สำคัญที่ใช้ประกอบในการทำฝนหลวง
1. เครื่องมืออุตุนิยมวิทยา ใช้ใน การตรวจวัด และศึกษาสภาพอากาศประกอบการ วางแผนปฏิบัติการ นอกเหนือจากแผนที่อากาศ ภาพถ่าย ดาวเทียมที่ได้รับสนับสนุนเป็นประจำวัน จาก กรมอุตุนิยมวิทยาที่มีใช้ได้แก่ 1.1 เครื่องวัดลมชั้นบน (Pilot Balloon) ใช้ตรวจวัดทิศทางและความเร็ว ลมระดับสูงจากผิวดินขึ้นไป 1.2 เครื่องวิทยุหยั่งอากาศ (Radiosonde) เป็นเครื่องมือ อิเล็คทรอนิคส์ประกอบด้วยเครื่องส่งวิทยุ ซึ่งจะ ติดไปกับบอลลูน และเครื่องรับสัญญาณวิทย ุ ซึ่งจะบอกให้ทราบถึงข้อมูลอุณหภูมิความชื้น ของบรรยากาศในระดับต่างๆ 1.3 เครื่องเรดาร์ ตรวจอากาศ (Weather Radar) ที่มีใช้อยู่เป็นแบบติดรถยนต์ เคลื่อนที่ได้มีประสิทธิภาพ สามารถบอกบริเวณ ที่มีฝนตกและความแรง หรือปริมาณน้ำฝนและ การเคลื่อนที่ของกลุ่มฝนได้ในรัศมี 200-400 กม. ซึ่งนอกจากจะใช้ประกอบการวางแผนปฏิบัติการแล้ว ยังใช้เป็นหลักฐานในการประเมินผล ปฏิบัติการฝนหลวงอีกด้วย 1.4 เครื่องมือตรวจ อากาศผิวพื้นต่างๆ เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิเครื่องวัด ความเร็วและทิศทางลมเครื่องวัดปริมาณน้ำฝน เป็นต้น
2. เครื่องมือเตรียมสารเคมี ได้แก่เครื่อง บดสารเคมีเครื่องผสมสารเคมี ทั้งแบบน้ำและ แบบผง ถัง และ กรวยโปรยสารเคมี เป็นต้น
3. เครื่องมือ สื่อสาร ใช้ในการติดต่อ สื่อสารและสั่งการระหว่างนักวิชาการบน เครื่องบิน กับฐานปฏิบัติการ หรือระหว่างฐาน ปฏิบัติการ 2 แห่ง หรือใช้รายงานผลระหว่างฐาน ปฏิบัติงานสำนักงานฯ ในส่วนกลางโดยอาศัยข่าย ร่วมของวิทยุตำรวจ ศูนย์สื่อสารสำนักงาน ปลัดกระทรวงมหาดไทย วิทยุเกษตร และกรม ไปรษณีย์โทรเลข เครื่องมือสื่อสารที่ใช้ใน ปัจจุบัน ได้แก่วิทยุซิงเกิลไซด์แบนด์ วิทยุ FM.1, FM.5 เครื่องทรพิมพ์ เป็นต้น
4. เครื่องมือ ทาง วิชาการ อื่นๆ เช่นอุปกรณ์ ทางการวางแผนปฏิบัติการ เข็มทิศ แผนที่ กล้อง ส่อง ทางไกล เครื่องมือตรวจสอบสารเคมี กล้องถ่ายภาพ และ อื่นๆ
5. สถานี เรดาร์ฝนหลวง ในบรรดาเครื่องมืออุปกรณ์ วิทยาศาสตร์ ภายใต้โครงการวิจัยทรัพยากรบรรยากาศ ประยุกต์จำนวน 8 รายการนั้น Doppler radar จัดเป็น เครื่องมืออุปกรณ์วิทยาศาสตร์ ที่มีมูลค่าสูงสุด Doppler radar นี้ใช้เพื่อวางแผนการทดลองและติดตาม ประเมินผลปฏิบัติการฝนหลวง สาธิตเครื่องมือชนิดนี้ ทำงานโดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์(Microvax 3400) ควบคุม การสั่งการการ เก็บบันทึก รวบรวม ข้อมูล สามารถ นำข้อมูลกลับมาแสดงใหม่จากเทปบันทึก ใน รูปแบบการทำงานของ IRIS (IRIS Software) ผ่าน Processor (RUP-6) กล่าวคือ ข้อมูลจะถูกบันทึกไว้ในเทป บันทึกข้อมูล ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถ นำมาใช้ได้ตลอด ซึ่งเชื่อมต่อกับ ระบบเรดาร์ การแสดงผล/ข้อมูล โดย จอภาพ (TV.monitor) ขนาด 20 นิ้ว สถานที่ตั้ง Doppler radar หรือ ที่ เรียกว่า สถานี เรดาร์ฝนหลวง นี้อยู่ที่ ตำบลยางเปียง อำเภออมก๋อย จังหวัด เชียงใหม่
ด้วยความสำคัญและปริมาณความต้องการให้ ปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือทวีจำนวนมากขึ้น ฉะนั้นเพื่อให้งานปฏิบัติการฝนหลวงสามารถ ปฏิบัติการช่วยเหลือเกษตรกรได้กว้างขวาง และได้ ผลดียิ่งขึ้น รัฐบาลจึงได้ตราพระราช กฤษฎีกาก่อตั้ง สำนักงานปฏิบัติการ ฝนหลวงขึ้นในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง เกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2518 เพื่อ เป็นหน่วยงานรองรับโครงการพระราชดำริฝนหลวง ต่อไป
จากกรรมวิธีการทำฝนหลวงที่ใช้เป็นหลัก อยู่ในปัจจุบัน คือการโปรยสารเคมีฝนหลวง จากเครื่องบิน เพื่อเร่งหรือเสริมการก่อตัว และ การเจริญเติบโตของเมฆ และการโจมตีกลุ่ม เป้าหมาย ที่ต้องการที่เคยปฏิบัติกันมา ตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงปัจจุบันนี้ นั้นใน บางครั้งก็ประสบปัญหาที่ไม่สามารถ ปฏิบัติการตามขั้นตอน กรรมวิธีให้ครบถ้วนสมบูรณ์ เช่น ในขั้นโจมตีให้ฝนตกลงสู่พื้นที่เป้าหมาย ไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากฝนตกปกคลุมสนามบิน เกิดลมพายุปั่นป่วน และรุนแรง เครื่องบิน ไม่สามารถบินขึ้นปฏิบัติการได้ ทำให้กลุ่มเมฆ เคลื่อนพ้นพื้นที่เป้าหมาย จากปัญหาต่างๆ เหล่านี้ จึงได้มีการวิจัยและทดลองกรรมวิธี การทำฝน เพื่อการพัฒนาและก้าวหน้าบรรลุ เป้าหมายยิ่งขึ้นอีกระดับหนึ่ง อาทิเช่นการทำวิจัย สร้างจรวดบรรจุสารเคมียิงจากพื้นดินเข้าสู่ ก้อนเมฆ หรือยิงจากเครื่องบิน จึงได้มี การเริ่มวิจัยประดิษฐ์จรวดทำฝนร่วมกับ กรมสรรพาวุธทหารบก เมื่อ พ.ศ. 2515-2516 จนก้าวหน้าถึง ระดับทดลองยิงในเบื้องต้นแล้ว แต่ต้อง หยุดชะงักด้วยความจำเป็นบางประการของ กรมสรรพาวุธทหารบกจนถึงพ.ศ.2524 คณะกรรมการสภาวิจัย แห่งชาติได้แต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาและ วิจัยจรวดฝนเทียมขึ้นประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ ด้านจรวดของกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ นักวิชาการ ของสภาวิจัยแห่งชาติ และนักวิชาการฝนหลวงซึ่ง ได้ทำการวิจัยประดิษฐ์และพัฒนาจรวด ต้นแบบขึ้น ทำการทดลองยิงทดสอบก้าวหน้า มาตามลำดับ และถึงขั้นบรรจุสารเคมีเพื่อ ทดลองยิงเข้าสู่ก้อนเมฆจริงแล้วในปี พ.ศ. 2530 ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นทำการผลิต จรวดเชิงอุตสาหกรรมเพื่อทำการยิงทดลอง และตรวจสอบผลใน

เชิงปฏิบัติการต่อไป ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรง พระกรุณาพระราชทานแนวความคิดในการวิจัยชิ้นนี้
อาจกล่าวได้ว่าการวางแผนและกำหนดกรรมวิธี ในการทำฝนหลวงในขั้นตอนต่างๆนั้น ได้ มาจากพระราชอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการประมวลและวิเคราะห์ข้อมูล รวมทั้ง การนำความสามารถของเทคโนโลยีสารสนเทศ มาใช้ในการดำเนินงานให้แต่ละขั้นตอนมี ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวิทยุสื่อสาร, ดาวเทียม หรือ แม้แต่คอมพิวเตอร์ ก็ตาม กล่าวคือ พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยี สารสนเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

โครงการพระราชดำริ โครงการฝายคลองช่องเรือ


โครงการฝายคลองช่องเรือ (อันเนื่องมาจากพระราชดําริ) ตําบลทรายขาว อําเภอโคกธิ์ จังหวัดปัตตานี

ที่ตั้งโครงการ
หมู่ที่ 5 ตําบลทรายขาว อําเภอโคกธิ์ จังหวัดปัตตานี
ประวัติโครงการ
สํานักราชเลขาธิการ พระบรมมหาราชวังได้มีหนังสือที่ รล0005/13381 ลงวันที่ 24 กันยายน 2544 เรียนเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ เพื่อพิจารณาเสนอความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะ เพื่อจักได้นำความถวายบังคมทูลพระกรุณาประกอบพระราชดำริต่อไปโดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงาน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้มีหนังสือที่ นร 1108/2098 ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2544 ขอให้กรมชลประทานพิจารณา กรณี นายอาดัม บาเหมบูงา ประธานกรรมการองค์การบริหารส่วนตําบลทรายขาว อําเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ได้มีหนังสือลงวันที่ 11 กันยายน 2544 ถึงสํานักราชเลขาธิการ ขอให้นําความกราบบังคมทูลพระมหากรุณาให้ทางราชการช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเนื่องจากขาดแคลนน้ำสําหรับอุปโภค-บริโภค จากโครงการประปาภูเขา ช่องเรือ ของราษฎรจำนวน 4 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1, 2, 3 และ 5 ตําบลทรายขาว อําเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี
สํานักชลประทานที่ 16 ร่วมกับสํานักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริและราษฎรที่ประสบความเดือดร้อนร่วมกันตรวจสอบสภาพพื้นที่และศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ในสภาพภูมิประเทศจริงแล้วเห็นว่ามีลู่ทางช่วยเหลือราษฎรที่ประสบความ เดือดร้อนได้โดยการก่อสร้าง ฝายคลองช่องเรือทดแทนทํานบคอนกรีตเดิมที่ชํารุด พร้อมระบบท่อส่งน้ำ และถังอุปโภค-บริโภค เพื่อส่งน้ำช่วยเหลือการอุปโภค-บริโภค ของราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนดังกล่าว
ได้นําความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้วและทรงรับเป็นโครงการพระราชดําริ ตามหนังสือสํานักราชเลขาธิการที่ รล 0005.5/18753 ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2545
วัตถุประสงค์
เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำสําหรับอุปโภค - บริโภคช่วงฤดูแล้งให้มีน้ำอุปโภค - บริโภคได้เพียงพอ ตลอดปีและสามารถเพาะปลูกตามแนวท่อส่งน้ำได้ ราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจํานวน 4 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1 บ้านใหญ่ หมู่ที่ 2 บ้านหลวงจันทร์ หมู่ที่ 3 บ้านทรายขาวออก หมู่ที่ 5บ้านทรายขาวตก ตําบลทรายขาว อําเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี จํานวน 526 ครัวเรือน ประชากร
รายละเอียดโครงการ
- ที่ตั้งหัวงานพิกัด 47 NQH 331-361 ระวาง 5,222 III
- พื้นที่รับน้ำ ประมาณ 3,800 ตร.กม. ปริมาณฝนเฉลี่ย 1,227.04 มม.
ลักษณะโครงการ
- ก่อสร้างฝายสูง 2.00 เมตร จํานวน 1 แห่ง
- ก่อสร้างถังเก็บน้ำ 1,600 ลูกบาศก์เมตร
- ถังกรองน้ำ - ถังเก็บน้ำความจุ 10 ลูกบาศก์เมตร จํานวน 11 แห่ง
- ท่อส่งน้ำ ∅ 0.25 เมตร 0.15 เมตร และ0.055 เมตร ความยาวรวม 12,325 เมตร
ระยะดําเนินการ
ดําเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จใน ปี 2547
งบประมาณในการก่อสร้าง
งบประมาณที่ได้รับ 22,906,000 บาท
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
สามารถส่งน้ำเพื่อการอุปโภค - บริโภค ให้แก่ราษฎรในเขตพื้นที่หมู่ที่ 1 บ้านใหญ่ , หมู่ที่ 2 บ้านหลวงจันทร์ , หมู่ที่ 3 บ้านทรายขาวออก และหมู่ที่ 5 บ้านทรายขาวตก ตําบลทรายขาว อําเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี จํานวน 526 ครัวเรือน จํานวนประชากรประมาณ 1,798 คน มีน้ำใช้สําหรับอุปโภค - บริโภค ได้ตลอดทั้งปี
โครงการฝายคลองช่องเรือ (อันเนื่องมาจากพระราชดําริ) ตําบลทรายขาว อําเภอโคกธิ์ จังหวัดปัตตานี


http://www.rid.go.th/royalproject/index.php?option=com_content&view=article&id=454:2009-09-12-05-34-35&catid=68:2009-05-04-07-30-23&Itemid=9

โครงการพระราชดำริ โครงการแก้มลิง












2. โครงการแก้มลิง

"...ตามปกติ เวลาเราให้กล้วยกับลิง ลิงจะเคี้ยวแล้วเก็บไว้ในแก้มลิง... เขาเคี้ยวแล้วเอาไปเก็บในแก้ม น้ำท่วมลงมา ถ้าไม่ทำ "โครงการแก้มลิง" น้ำท่วมนี้จะเปรอะไปหมด อย่างที่เปรอะปีนี้ เปรอะไปทั่วภาคกลาง จะต้องทำ "แก้มลิง" เพื่อที่จะเอาน้ำปีนี้ไปเก็บไว้..."
พระราชดำรัส ๔ ธันวาคม ๒๔๓๘

"โครงการแก้มลิง" เป็นส่วนหนึ่งของโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลตามแนวพระราชดำริ โดยประกอบด้วยโครงการขุดลอกคลองระบายน้ำและกำจัดวัชพืชโครงการปรับปรุงและก่อสร้างสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำ ตามที่ได้เกิดสภาวะน้ำท่วมหนัก ในลุ่ม แม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๘ อันสืบเนื่องมาจากฝนตกหนักในลุ่มน้ำตอนบน ทำให้ปริมาณน้ำจำนวนมากไหลหลากท่วมพื้นที่อย่างรุนแรงในลุ่มแม่น้ำยมและน่านเสริมกับปริมาณน้ำล้นอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ไปหลากท่วมพื้นที่ทางด้านท้ายน้ำอย่างหนัก และส่งผล กระทบต่สภาวะน้ำท่วมในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างซึ่งรวมถึงเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เป็นเวลานานกว่า ๒ เดือน คืนวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่ดูแลปัญหาน้ำท่วมเข้าเฝ้าฯเพื่อรับพระราชทานแนวพระราชดำริการป้องกันน้ำท่วม ในพื้นที่บริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑลโดยทรงเปรียบเทียบการ กินอาหารของลิงหลังจากที่ลิง เคี้ยวกล้วยแล้วจะยังไม่กลืน แต่จะเก็บไว้ภายในแก้มทั้งสองข้างแล้วค่อย ๆ ดุนกล้วยมากินในภายหลังเช่นเดียวกับกรณีการผันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งน้ำที่ขึ้นมาตามซอยต่าง ๆ เมื่อน้ำทะเลหนุนให้ไปเก็บไว้ที่บึงใหญ่ที่อยู่ใกล้กับพื้นที่ชายทะเล และมีประตูน้ำขนาดใหญ่สำหรับปิดกั้นน้ำบริเวณแก้มลิงสำหรับฝั่งตะวันตกจะอยู่ที่คลองชายทะเลด้านฝั่งตะวันออกบริเวณแก้มลิงจะอยู่ที่คลองสรรพสามิต เมื่อเวลาน้ำทะเลลดลงให้เปิดประตูระบายน้ำออกไป บึงจะสามารถรับน้ำชุดใหม่ต่อไป

แนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ คือ
ประการแรก สร้างคันกั้นน้ำโดยปรับปรุงแนวถนนเดิม ประการที่ ๒ จัดให้มีพื้นที่สีเขียว (Green Belt) ตามพระราชดำริเพื่อกันการขยายตัวของเมืองและเพื่อแปรสภาพให้เป็นทางระบายน้ำ เมื่อมีน้ำหลาก ประการที่ ๓ ดำเนินการขุดลอกคลอง ขยายคลองที่มีอยู่เดิมและขุดใหม่นอกแนวคันกั้นน้ำ ประการที่ ๔ สร้างสถานที่เก็บน้ำตามจุดต่าง ๆ ประการที่ ๕ ขยายช่องทางรับน้ำที่ผ่านทางรถไฟและทางหลวง กรมทางหลวงได้ดำเนินการตาม "โครงการพระราชดำริแก้มลิง" โดยใช้แนวถนนสุขุมวิทเป็นคันกั้นน้ำทะเลที่หนุนท่วมขึ้นมาบนชายฝั่งทะเล และใช้พื้นที่ด้านในของถนนสุขุมวิทเป็นพื้นที่พักน้ำที่ไหลมาจากตอนบนร้อมทั้งประสานงานกับกรมชลประทานและกรมโยธาธิการดำเนินการก่อสร้างสถานีสูบน้ำตามคลองต่าง ๆ เลียบถนนสุขุมวิทตามแนวคลองชายทะเล โดยมีประสิทธิภาพในการสูบน้ำตามคลองต่าง ๆ คือ คลองตำหรุ คลองบางปลาร้า คลองบางปลา คลองเจริญราษฎร์ คลองด่าน คลองชลหารพิจิตร รวมปริมาณน้ำที่สามารถสูบออกทะเล ๒๖๗ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้น้ำตามคลองต่าง ๆ ของพื้นที่ด้านบนสามารถไหลลงสู่ด้านล่างได้สะดวกรวดเร็วขึ้น
การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลตามแนวพระราชดำริ "แก้มลิง" มีลักษณะและวิธีการดังนี้

๑. ดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ตอนบน ให้ไหลลงคลองพักน้ำขนาดใหญ่ที่บริเวณชายทะเล๒. เมื่อระดับน้ำทะเลลดต่ำกว่าระดับน้ำในคลอง ก็ทำการระบายน้ำจากคลองดังกล่าวโดยใช้หลักทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของโลก (Gravity Flow) ตามธรรมชาติ๓. สูบน้ำออกจากคลองที่ทำหน้าที่ "แก้มลิง" นี้ เพื่อทำให้น้ำตอนบนค่อยๆ ไหลมาเองตลอดเวลา ส่งผลให้ปริมาณน้ำท่วมพื้นที่ลดน้อยลง๔. เมื่อระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับน้ำในลำคลอง ให้ทำการปิดประตูระบายน้ำโดยยึดหลักน้ำไหลลงทางเดียว (One Way Flow)
หลักการ ๓ ประการ ที่จะทำให้โครงการแก้งลิงมีประสิทธิภาพบรรลุผลสำเร็จตามแนวพระราชดำริ คือ การพิจรณา
๑. สถานที่ที่จะทำหน้าที่เป็นบ่อพักและวิธีการชักนำน้ำท่วมไหลเข้าสู่บ่อพักน้ำ ๒. เส้นทางน้ำไหลที่สะดวกต่อการระบายน้ำเข้าสู่แหล่งที่ทำหน้าที่บ่อพักน้ำ ๓. การระบายน้ำออกจากบ่อพักน้ำต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
"โครงการแก้มลิงฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา" ใช้คลองชายทะเลตั้งอยู่ริมทะเลด้านจังหวัดสมุทรปราการทำหน้าที่เป็นบ่อพักน้ำหรือบ่อรับน้ำส่วน"โครงการแก้มลิง ในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา" ทำหน้าที่รับน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อระบายออกทะเลด้านจังหวัดสมุทรสาครพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริ เพื่อให้การระบายน้ำท่วมออกทะเลเร็วขึ้นด้วยวิธีการต่างๆอาทิ โครงการแก้มลิง "แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง"ซึ่งใช้หลักการ ในการควบคุมน้ำในแม่น้ำท่าจีน คือ เปิดระบายน้ำจำนวนมากลงสู่อ่าวไทยเมื่อระดับน้ำทะเลต่ำ
โครงการแก้มลิงแม่น้ำท่าจีนตอนล่างจะมีประสิทธิภาพสมบูรณ์ต้องดำเนินการครบระบบ ๓ โครงการด้วยกัน คือ
๑. โครงการแก้มลิง "แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง ๒. โครงการแก้มลิง "คลองมหาชัย-คลองสนามชัย" ๓. โครงการแก้มลิง "คลองสุนัขหอน" โครงการแก้มลิงนับเป็นนิมิตหมายที่จะนำพาชาวไทยให้รอดพ้นจากทุกข์ภัย ที่นำความเดือนร้อนแสนลำเค็ญมาสู่ชีวิตที่อบอุ่นปลอดภัยซึ่งแนวพระราชดำริอันเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านน้ำท่วมนี้ มีพระราชดำริเพิ่มเติมว่า
"...ได้ดำเนินการในแนวทาง ที่ถูกต้องแล้ว ขอให้รีบเร่งหาวิธีปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพต่อไปเพราะโครงการแก้มลิงในอนาคตจะสามารถช่วยพื้นที่ได้หลายพื้นที่..."